“ศาลแพ่งพระโขนง” ร่วมมือ “SAM” เดินหน้าโครงการ “สามประสานร่วมใจไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด” เพิ่มโอกาสลูกหนี้ SMEs เจรจาหนี้จบ ก่อนดำเนินคดี

923

ศาลแพ่งพระโขนง และ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในโครงการ “สามประสานร่วมใจไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด” โดยให้ SAM เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการปรับโครงสร้างหนี้ ให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หวังช่วยเจ้าหนี้ และลูกหนี้ เข้ากระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ได้ข้อยุติก่อนเข้าสู่กระบวนการทางศาล เตรียมนำระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์มาใช้

นายอดุลย์ ขันทอง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งพระโขนง เปิดเผยว่า โครงการ “สามประสานร่วมใจไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด” นับเป็นครั้งแรกที่ศาลยุติธรรมและสถาบันการเงิน ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs โดยให้ SAM เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแนะนำแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เพื่อนำไปใช้ประกอบการเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ในชั้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนดำเนินคดี หรือเรียกว่าการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ซึ่งโครงการนี้นับเป็นโครงการสำคัญที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การระงับข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 และแผนยุทธศาสตร์สำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ.2561-2564 รวมถึงนโยบายของท่านประธานศาลฎีกาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่กรณีไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แต่อย่างใด สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ขณะเดี่ยวกัน ด้วยปัจจุบันเป็นศาลยุคดิจิทัล ศาลแพ่งพระโขนงจึงจะนำระบบ“ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์” มาใช้ประกอบการดำเนินโครงการนี้ด้วย เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและการอำนวยความยุติธรรมได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ด้านนายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM เปิดเผยว่า SAM รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนสำคัญของโครงการ ซึ่งความร่วมมือระหว่าง SAM และศาลแพ่งพระโขนงในครั้งนี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีโอกาสได้รับ คำแนะนำถึงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ประกอบการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ต่อไป โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30กันยายน 2563 ซึ่ง SAM จะจัดเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้การเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินมีข้อยุติได้โดยเร็ว และช่วยให้ลูกหนี้ SMEs มีโอกาสกลับไปดำเนินธุรกิจ และประกอบอาชีพของตนเองได้ตามปกติต่อไป

 

Leave A Reply

Your email address will not be published.