ขับเคลื่อน Big Data

“เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ต่อเนื่องเตรียมจัดทำแดชบอร์ดสินค้าเกษตรสำคัญ เพิ่มเติม 4 สินค้า

332

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างฐานข้อมูลร่วม “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งดำเนินการภายใต้ “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน” หรือ “คณะอนุกรรมการ Single Big Data” ที่มี ผอ.สนค. และเลขาธิการ สศก. เป็นประธานอนุกรรมการร่วมกัน อยู่ภายใต้ “คณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต” (ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการร่วม)
ซึ่งการจัดทำ Single Big Data เป็นพันธกิจตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำ
การผลิต” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะจัดทำแดชบอร์ดสินค้าเกษตรเพิ่มเติมอีก 4 สินค้า ได้แก่ (1) โคนม (2) ไก่ไข่
(3) ถั่วเหลือง และ (4) สับปะรด โดยในช่วงวันที่ 10 -15 มีนาคม 2566 มีการจัดประชุมหารือเพื่อนำเสนอร่างแบบ
แดชบอร์ด (Dashboard Mockup) ของทั้ง 4 สินค้า ต่อผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งจากหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชน และสมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลและการออกแบบการแสดงผล สามารถตอบโจทย์ตรงตามความต้องการใช้งานของผู้ใช้งาน

ฐานข้อมูลร่วม “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สามารถใช้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการผลิต (2) ด้านราคา และ (3) การส่งออกหรือการนำเข้า พร้อมทั้งมีระบบเตือนภัย (Warning) เพื่อเฝ้าระวัง
ความเสี่ยงในแต่ละด้าน แสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลหลายแง่มุม และสามารถใช้งานได้ง่าย ที่ผ่านมา สนค. และ สศก. ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ได้จัดทำแดชบอร์ดสินค้าเกษตรไปแล้วหลายสินค้า โดยได้เผยแพร่แล้ว 6 สินค้า ได้แก่ มันสำปะหลัง ทุเรียน ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา บน www.คิดค้http://xn--g4c.com/ รวมทั้งเชื่อมข้อมูล (Link Banner) เผยแพร่บนเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (www.nabc.go.th) และอยู่ระหว่างตรวจสอบ
ความถูกต้องอีก 3 สินค้า ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ได้ในช่วงเดือนมีนาคมนี้

ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า การบูรณาการร่วมกันระหว่างสองกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้ประโยชน์จาก Big Data สินค้าเกษตร สร้างโอกาสการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นและทันสมัย สามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตและการทำธุรกิจ
ช่วยยกระดับเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ดูแลราคาสินค้าเกษตร ป้องกันและบรรเทาปัญหาสินค้าขาดหรือล้นตลาด และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป

Leave A Reply

Your email address will not be published.