5 จุดแข็ง หลังควบรวม ทรู ดีแทค สู่การเป็นเทคโนโลยีคัมปานี เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน จากการผนึกกำลัง
นักวิเคราะห์มั่นใจ “ทรู” ขับเคลื่อนสู่ “เทคคอมปานี” หลังปิดดีลควบรวม “ดีแทค” เข้าสู่โหมดการอัปเกรดทุกมิติ เพิ่มโอกาสใช้นวัตกรรมในอนาคต โดยประกาศพร้อมนำไทยเปลี่ยนสู่ชีวิตดิจิทัล ซึ่งเจตนารมณ์หลักของการรวมธุรกิจของ DTAC และ TRUE คือ การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแบบก้าวกระโดด รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียม เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
DTAC และ TRUE คือ การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแบบก้าวกระโดด
โดยเมื่อวันที่ 22 กพ. 66 ผลการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE และ ผู้ถือหุ้นของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ DTAC ครั้งที่ 2 มีมติให้ใช้ชื่อบริษัทใหม่ภาษาไทย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) หรือ True Corporation Public Company Limited โดยมีชื่อย่อหลักทรัพย์ TRUEE ทั้งนี้ ทุนของบริษัทใหม่ 138,208,403,204 บาท ซึ่งเท่ากับทุนชําระแล้วทั้งหมดของ TRUE กับ DTAC รวมกัน โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจํานวนทังสิ้น 34,552,100,801 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4 บาท
บทวิเคราะห์จากบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย กล่าวคือ การจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 หุ้น TRUE และ DTAC จะหยุดพักการซื้อขายหุ้นเป็นระยะเวลา 9 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2566
ดังนั้นนักลงทุนต้องถือหุ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันซื้อขายวันสุดท้าย หากจะแปลงเป็น NewCo (บริษัทใหม่)โดยระบบจะเปลี่ยนเป็น NewCo ให้ภายใต้ Ratio 1 หุ้น TRUE ต่อ 0.60018 หุ้นในบริษัทใหม่และ 1 หุ้น DTAC ต่อ 6.13444 หุ้นในบริษัทใหม่
ทั้งนี้ในระยะยาวประเมินว่า NewCo มีศักยภาพที่จะสร้างการทำงานร่วมกัน (Synergy) ระดับ 2 หมื่นล้านบาทต่อปีได้ไม่ยาก โดยการทำงานร่วมกัน จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่
1.โอกาสปรับเพิ่มรายได้จากการแข่งขันที่ลดความรุนแรงลงโดยคาดการเติบโตของรายได้ของธุรกิจมือถือและธุรกิจ Broadband จะเพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 0.50% ต่อปี
2.การลดต้นทุนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนซึ่งเป็น การทำงานร่วมกัน หลักที่จะเกิดขึ้น เช่น การทำ Spectrum Optimization การทำ Network Sharing การลดลงของต้นทุนการอุดหนุนค่าเครื่อง การลดลงของค่าใช้จ่ายในการบริหารและการลดการใช้จ่ายการตลาดที่ซ้ำซ้อน และ 3. การลดลงของ CAPEX ที่ซ้ำซ้อน
อย่างไรก็ตามคาดว่าการทำงานร่วมกันจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2566 เนื่องจาก การทำงานร่วมกันส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงสร้างต้นทุน เช่น การไม่ต่อสัญญาเช่าคลื่นความถี่ในปี 2568 หรือการปรับโครงสร้างองค์กรที่ต้องอาศัยเวลาราว 1-3 ปี นอกจากนี้ในระยะสั้นการแข่งขันจาก ADVANC มีโอกาสสูงขึ้นเพื่อแย่งตำแหน่งทางการตลาดในช่วง 6 เดือนแรกหลังการควบรวมกิจการ อย่างไรก็ดีในท้ายที่สุด การทำงานร่วมกันจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปไม่ยาก
โดยคาดกำไรปกติของ NewCo ในปี 2566-2568 ที่ 3.5 พันล้านบาท ,1.2 หมื่นล้านบาท และ 1.4 หมื่นล้านบาท ภายใต้สมมติฐานการทำงานร่วมกันในปี 2566-2568 ที่ 2.0 พันล้านบาท, 8.7 พันล้านบาท และ 1.2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ โดยไม่ได้ประเมินการทำงานร่วมกันที่เกินกว่าระดับ 1.4 หมื่นล้านบาท ในระยะยาวเพื่อให้สมมติฐานของเราอนุรักษ์นิยม ซึ่งมอง NewCo เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเติบโตเด่นในช่วง 3 ปีจากนี้
ดังนั้นได้ให้คำแนะนำ “ซื้อ” ประเมินราคาเหมาะสมที่ 10.40 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี DCF บน WACC 9.0% และอัตราการเติบโตของธุรกิจที่ 2.0% ประเมินมูลค่าหุ้น (Equity Value) ที่ 3.34 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าต่อหุ้นที่ 9.67 บาทต่อหุ้น ขณะที่ประเมินมูลค่าเงินลงทุน 21% ใน DIF โดยอิงราคาตลาดราว 13.60 บาทต่อหุ้น หักลดด้วยส่วนลดราว 20% เพื่อให้อนุรักษ์นิยมจะได้มูลค่าหุ้นที่ 2.4 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.70 บาทต่อหุ้น ขณะที่เชิงกลยุทธ์แนะนำให้นักลงทุนที่ถือ DTAC และ TRUE แปลงไปเป็น NewCo เนื่องจากคาดว่ายังมีอัพไซด์อีกอย่างน้อย 20% เทียบราคากระดานของ DTAC และ TRUE และราคาเหมาะสม NewCo สำหรับความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การแข่งขันด้านราคารุนแรง ความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์และการทำงานร่วมกันที่เกิดขึ้นได้ช้ากว่าคาด
นอกจากนี้วงการนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ยังได้เปิดเผยว่า หลังการควบรวม คาดว่าบริษัทใหม่จะต้องสร้างประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยเชื่อว่าผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นพร้อมด้วยคุณภาพ ความเสถียร และความเร็วโครงข่ายที่ดีขึ้น อีกทั้งการรวมโครงสร้างพื้นฐานของสองบริษัทเข้าด้วยกัน จะลดต้นทุนการดำเนินกิจการของบริษัทลงแล้วจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับค่าบริการที่ถูกลง นอกจากนี้ดีแทคในบ้านใหม่จะเพิ่มสัญญาณ 5G ผ่านการโรมมิ่งสัญญานของทรู บริษัทใหม่จะมีคลื่นความถี่มากกว่าเดิมด้วยคลื่น 700 MHz, 850 MHz, 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz, 2600 MHz, 26GHz และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ใช้งาน (coverage) และเพิ่มความจุรองรับการใช้งาน (capacity) และเพิ่มจุดใช้งาน WiFi สามารถเชื่อมต่อการใช้งานในอาคาร ศูนย์การค้า พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ นอกเหนือจากสัญญาณคุณภาพ 5G และ 4G ถ้าควบรวมสู่บริษัทใหม่เสร็จสิ้น ส่งผลให้ ลูกค้าดีแทคไม่ว่าจะอยู่ในเมือง นอกเมือง พื้นที่ห่างไกล หรือ ไม่ว่าจะเป็นใคร ทั้ง คนทั่วไป นักเรียน นักธุรกิจ พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้การควบรวมของโอเปอเรเตอร์ทำให้ได้ประโยชน์จากการลดต้นทุน (The amount of in-country consolidation for cost reduction) เพิ่มโอกาสในการนำเสนอบริการที่มีราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น ดังตัวอย่างประเทศไทย ที่โอเปอเรเตอร์มีต้นทุนค่าไลเซนส์ ค่าคลื่น ค่าอุปกรณ์เน็ตเวิร์กในราคาสูงมาก ทำให้ภาวะต้นทุนยากต่อการแข่งขัน อีกทั้งมรสุมเงินเฟ้อในอนาคตจะกดดันดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น การที่ New Co มีการศึกษาด้านต้นทุน และสามารถลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญจะส่งผลบวกต่อกำไร ราคาลูกค้าจะได้ความคุ้มค่ามากขึ้น เพราะแพกเกจที่ใช้อยู่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราค่าบริการต่ำสุดในโลก ทำให้การจัดการต้นทุนที่ดี คือหัวใจสาระคัญในการประกอบธุรกิจ เช่น เพิ่มความสะดวกมากขึ้น โดยมีศูนย์ให้บริษัทหลังการควบรวมเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริการหลังการขายสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น จำนวนร้าน สาขาของทรู และดีแทคทั่วประเทศ จะให้บริการลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อ และนำมาต่อยอดบริการรูปแบบใหม่ ให้ลูกค้ามีความสะดวก และมี call center รวม 2 ค่ายมากกว่า 5,200 คน
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ฯมองต่อไปว่า การควบรวมครั้งนี้ถือเป็นก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาไทยที่จะเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีตามกระแสโลก โดยมีจุดแข็งที่น่าสนใจ 5 ประการ คือ
1.บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะให้บริการสู่ความเป็นเลิศด้านดาต้า ดังนั้นการควบรวม DTAC-TRUE สู่การเป็นบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะทำให้การแข่งขันในตลาดยังคงสูงอย่างต่อเนื่องดังนั้น การควบรวมกิจการจะนำมาสู่การแข่งขันที่เหมาะสมกันยิ่งขึ้นระหว่างบริษัทใหม่และผู้นำตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันยิ่งขึ้น เรื่องราคาค่าบริการและคุณภาพการบริการในการดึงดูดลูกค้า
2.การแข่งขันของรายใหญ่ที่เหลือ จะนำไปสู่การมอบประสบการณ์เครือข่ายชั้นนำเพื่อคนไทย ซึ่งบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีพร้อมยกระดับประสบการณ์ใช้งานมือถือและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G และ 4G ให้ดีขึ้นกว่าเดิมทันที โดยในส่วนของ TRUE และ DTAC จะมีการนำจุดแข็งของทั้งสองมาผนึกกำลังร่วมกัน สัญญาณครอบคลุมพื้นที่ใช้งาน (Coverage) มากยิ่งขึ้น ทำให้ประชากรไทยทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันรวมถึงการขยาย 5G ทั่วประเทศที่รวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ยิ่งขึ้น
3.อนาคตของบริษัท เทเลคอม-เทคโนโลยีนั้นจะให้บริการที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการเป็นแค่เพียงบริษัทโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการดิจิทัลและประสบการณ์ต่าง ๆ แก่ผู้บริโภค ดังนั้นด้วยขนาดองค์กรและความเชี่ยวชาญจะทำให้บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีสามารถดึงดูดผู้ให้บริการเทคโนโลยี และผู้นำด้านดิจิทัลระดับโลกในฐานะพันธมิตร ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการทางเทคโนโลยีและดิจิทัลที่ทันสมัยล่าสุดได้ก่อนใคร
4.บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะนำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกมาช่วยผลักดันธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย โดยบริษัทใหม่และพันธมิตรจะระดมทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัล เพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่อนาคตของสตาร์ทอัปไทยในระดับยูนิคอร์น และกองทุน VC จะสร้างทักษะงานดิจิทัลใหม่ๆ นับพันตำแหน่ง เพื่อสร้างการเติบโต ทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะก่อประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจ และการสร้างสิทธิบัตรใหม่ต่างๆ สำหรับประเทศไทย รวมถึงกองทุน VC มีแผนสนับสนุนภาพรวมของระบบนิเวศสตาร์ทอัปไทย ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจมูลค่าสูงสุดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ดังนั้น การควบรวมนอกจากจะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าให้ GDP ด้วย
5.บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี จะต้องรักษามาตรฐานสูงสุดในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และจะส่งเสริมแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG – Environmental, Social, Governance) ตามกระแสโลก โดยบริษัทใหม่จะต้องยึดมั่นประโยชน์ของลูกค้าและสังคมไทยเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ และมุ่งสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมที่เท่าเทียมและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย อันจะช่วยให้สามารถรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน