สถาปนิก’67 ชูไฮไลต์นิทรรศการภายใต้แนวคิด “Collective Language” เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลก “สัมผัส สถาปัตย์” งานออกแบบที่ไร้ขอบเขต
สมาคมสถาปนิกสยามฯ เผยนิทรรศการไฮไลต์ภายในงานสถาปนิก’67 ชูคอนเซ็ปต์ : สัมผัส สถาปัตย์ หวังสร้างการรับรู้ให้ผู้คนทั่วโลก ได้สัมผัสและเข้าใจงานสถาปัตยกรรม–การออกแบบที่ไร้ขอบเขต เฉกเช่นการสื่อสาร ภาษา ศิลปะวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ดีในอนาคต ผ่านนิทรรศการหลักธีมงาน วิชาการ และกิจกรรมพิเศษ อาทิ จัดแสดงผลงานสถาปัตยกรรมจาก 12 สถาปนิกชั้นนำในเอเชีย, จัดแสดงผลงานสถาปนิกในกลุ่มพันธมิตรจากARCASIA, นิทรรศการประกวดแบบเชิงแนวความคิด, สถาปนิกอาสา เวทีการสัมมนา ASA International Forum 2024 และอื่นๆ อีกมากมาย ตลอด 6 วันจัดงานสถาปนิก’67 ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดงานสถาปนิก’67 มหกรรมแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เกี่ยวกับนิทรรศการไฮไลต์ที่จะเกิดขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ หวังสร้างการรับรู้ให้ผู้คนจากทั่วโลก ได้สัมผัสและเข้าใจงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ไร้ขอบเขต เฉกเช่นการสื่อสาร ภาษา ศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความตั้งใจตลอดระยะเวลา 90 ปีของการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่อยากให้เกิดความเคลื่อนไหว (movement) ที่ดีในอนาคตร่วมกัน ผ่านงานแสดงนิทรรศการและกิจกรรมสำคัญๆ ซึ่งประกอบไปด้วย
นิทรรศการหลัก ได้แก่ นิทรรศการธีมงาน Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ โดยจะจัดแสดงผลงานสถาปัตยกรรมจาก 12 สถาปนิกชั้นนำของเอเชีย นำเสนอกลุ่มภาษาที่ภัณฑารักษ์ถอดองค์ประกอบสถาปัตยกรรมเพื่อบอกเล่าถึงลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย และตั้งคำถามถึงภาษาอื่นๆ ในสถาปัตยกรรมที่จะกลายเป็นภาษากลางใช้ร่วมกันในอนาคต พร้อมทั้งการจัดแสดงผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมพันธมิตร 21 ชาติ จากสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย The Architects Regional Council Asia (ARCASIA) ที่ภัณฑารักษ์ได้จัดกลุ่มภาษาที่ถอดจากองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเพื่อสื่อสารถึงทิศทางของภูมิภาคในอนาคต
นิทรรศการ ASA All Member สัมผัส ‘วิชาชีพ’ ผ่านนิทรรศการ ASA All Member : Collective Practices ที่ไม่เพียงแต่จัดแสดงเฉพาะผลงานของสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ สมาคมมัณฑนากรฯสมาคมภูมิสถาปนิกฯ และสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าไปร่วมสัมผัสวัฒนธรรมองค์กรและเบื้องหลังการทำงาน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรม และในปีนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ครบรอบ 90 ปี จึงมีความพิเศษในนิทรรศการให้ผู้เข้าชมได้สัมผัส ร่วมคิด ต่อยอด และตั้งคำถามถึงบทความของสถาปนิกร่วมกันในอนาคต
นิทรรศการ Collective Experience เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจาก Human Library ที่จัดไปเมื่องานสถาปนิก’66 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์ และเรื่องราวตามความถนัดของแต่ท่านผ่านการบอกเล่า และพูดคุยอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง (Sensory Intimacy) ที่ถูกรวบรวมและตกผลึกผ่านประสบการณ์และความสนใจของผู้บรรยายทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่จะมาแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขาสู่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้คนร่วมสังคมโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและภาษา ซึ่งจะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละคน รวมทั้งแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และประสบการณ์ร่วมกัน และยังมีนิทรรศการ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย : TIDA, นิทรรศการ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย : TALA และนิทรรศการ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย : TUDA อีกด้วย
ในส่วนของนิทรรศการวิชาการ ประกอบด้วย นิทรรศการประกวดแบบเชิงแนวความคิด (ASA Experimental Design Competition) แสดงผลงานการประกวดแบบในระดับนานาชาติ ที่เปิดให้สมาชิกสมาคมฯ นิสิต-นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมส่งผลงาน หาแนวทางความคิดสร้างสรรค์และผลงานออกแบบที่ไม่จำกัดพื้นที่ตั้งและขนาด โดยปีนี้ ใช้กรุงเทพมหานครเป็นกรณีศึกษา เพื่อหาความเหมือนที่แตกต่าง ตอบโจทย์ความรู้สึกของผู้คนกับตัวเมือง ผ่านคำจำกัดความว่า ‘สัมผัส’ และนอกจากนี้ยังมี นิทรรศการ สมาคม วิชาชีพ วิชาการ ได้แก่ นิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมประจำปี 2567 นิทรรศการสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2567 นิทรรศการ VERNADOC นิทรรศการผลงานนักศึกษา/สถาบันการศึกษา
นายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวเสริมว่า งานสถาปนิก’67 ไม่เพียงนำเสนอนิทรรศการไฮไลต์ แต่ยังมีโซนกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยแบ่งพื้นที่กิจกรรมและบริการหลักๆ ได้แก่ASA Club – พื้นที่พบปะ และจุดพักผ่อนประจำของชาวอาษา, ASA Night 2024 – กิจกรรมสังสรรค์พบปะตามประเพณีของเหล่าสมาชิกอาษา, สถาปนิกอาสา – พื้นที่สถาปนิกอาสา บริการให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ ในงานสถาปัตยกรรม, ACT + ASA Shop – พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกของสมาคมฯ และสภาสถาปนิก ASA Book Shop – พื้นที่จัดจำหน่ายหนังสือจากสถาบันการศึกษาและองค์กรทางด้านสถาปัตยกรรม
รวมถึงโซนกิจกรรมสัมมนาวิชาการที่โดดเด่น เช่น เวที ASA International Forum 2024 งานสัมมนาวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ในงานออกแบบและข้อมูลทางเทคนิคในการประกอบวิชาชีพ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นหัวข้อในการเสวนาที่น่าสนใจภายใต้ธีม ‘COLLECTIVE LANGUAGE: Critical Regionalism in Architecture’ นอกจากนั้นยังมีเวทีProfessional Seminar 2024 งานสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญในไทยของแต่ละสาขาวิชา ที่จะให้ประโยชน์แก่การประกอบวิชาชีพของสถาปนิกในปัจจุบัน ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อร่วมฟังการสัมมนาได้ที่งานสถาปนิก’67 เช่นกัน
สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสาร รับรู้ ส่งต่อ ผ่านการสัมผัสสถาปัตย์ไปพร้อมกัน ในงานสถาปนิก’67 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567 ณอาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของงานได้ผ่านทางwww.facebook.com/ASAArchitectExpo