เปิดวิสัยทัศน์ ‘อนันต์กร อมรวาที’ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน คนใหม่ นำทัพองค์กรสร้างความรับรู้ – เข้าใจ – เข้าถึง “ผู้บริโภค” เป้าหมายเพื่อการเติบโตยั่งยืน
‘อนันต์กร อมรวาที’ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) คนใหม่ เผยวิสัยทัศน์ สร้างความรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง “ผู้บริโภค” บทบาทในวาระ 3 ปี (2568 -2570) ต้องสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ ผ่าน 3 ภารกิจ การรับรู้แบรนด์ การพัฒนาคุณภาพสมาชิกที่มีบริการครบวงจรชัดเจนทุกเรื่องรับสร้างบ้าน จัดวางการสร้างฐานข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวทางเสริมขีดความสามารถ ยกระดับมาตรฐานการทำธุรกิจยุคใหม่ แต่ยังคงเน้นย้ำการทำธุรกิจ ภายใต้กรอบ ‘ESG’ เพื่อนำองค์กรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable)
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA : Home Builder Association) เปิดตัว “อนันต์กร อมรวาที” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านคนใหม่ที่มาพร้อมวิสัยทัศน์ และแนวทางรับมือกับความท้าทายจากการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต
นายอนันต์กร อมรวาที นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยวิสัยทัศน์และการขับเคลื่อนสมาคมฯ ในวาระปี 2568 – 2570 ว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี สมาคมฯ มุ่งมั่นในการสร้างมาตรฐานงานรับสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ยังคงเดินหน้าสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจรับสร้างบ้าน และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเป็นฟันเฟืองให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัว ท่ามกลางความท้าทาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ การแข่งขัน และพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยกำหนดวิสัยทัศน์มุ่งสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยขับเคลื่อนภายใต้ภาระกิจหลักใน 3 ด้าน “B-Q-O” ซึ่งประกอบด้วย
B (Brand Awareness) การสร้างความรับรู้การทำงานของธุรกิจรับสร้างบ้าน สินค้าและบริการ จากบริษัทสมาชิกเป็นอย่างไร มีความแตกต่างกับธุรกิจก่อสร้าง หรือธุรกิจอสังหาฯ อื่นๆ เช่น การสร้างบ้านพร้อมขายอย่างไร สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ส่งมอบคุณค่าสินค้าและบริการ ให้ผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง โดยการสื่อสารจะทำผ่านช่องทางสื่อใหม่ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในการใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกฯ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
Q (Quality) มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสมาชิก ด้วยการคัดเลือกบริษัทสมาชิกที่มีคุณภาพจากทั่วประเทศ ส่งต่อการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ พัฒนางานด้านวิชาการ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น การสร้างคู่มือมาตรฐานการก่อสร้างกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำผลงานวิชาการเหล่านั้นมาปรับใช้ในเรื่องการก่อสร้างให้มีมาตรฐานคุณภาพของงาน และการส่งต่อการบริการของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
O (Organization) การพัฒนาระบบเก็บข้อมูลสมาชิกของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอุตสาหกรรม รวมทั้งเสริมขีดความสามารถทางธุรกิจ การแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น
“สมาคมฯ เดินหน้าสร้างการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศให้มากขึ้น โดยเน้นย้ำถึงคุณภาพมาตรฐานสินค้าการให้บริการของบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิก ซึ่งมีพร้อมรองรับการขยายตัวของตลาด ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะความต้องการของผู้บริโภคในการสร้างบ้านมีหลากหลายระดับราคา เราต้องตีโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ออก และตอบโจทย์ ผู้บริโภคให้ได้ เชื่อว่าภายใต้แนวคิดและการขับเคลื่อนตามภาระกิจดังกล่าว จะเพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ และเกิดการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศมากขึ้น” นายอนันต์กร กล่าว
นายอนันต์กร กล่าวว่า การพัฒนาองค์กรในฐานะสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้วางกรอบการทำธุรกิจของสมาชิกให้เดินตามแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สร้างการอยู่ร่วมกันกับชุมชน และสังคม และการมีธรรมาภิบาล ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใส มีความจริงใจต่อผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable) สร้างสังคมที่น่าอยู่ร่วมกัน
โดยที่ผ่านมา สมาคมฯ สานต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิด ESG ในหลายมิติ จนได้รับรางวัลสมาคมการค้ายอดเยี่ยม ปี 2567 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสภาหอการค้าไทย 2 ปีติดต่อกัน และปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มให้มีการจัดโครงการประกวดแบบบ้านประหยัดพลังงาน เพื่อสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมในกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนทั่วไป ตลอดจนโครงการ “สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สร้างอนาคต เพื่อเด็กไทย” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ผ่านกิจกรรมมอบทุนการศึกษา สร้างห้องสมุด ซ่อมแซมห้องน้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับโรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัดทุกปี
ด้านการทำการตลาดให้กับบริษัทสมาชิก สมาคมฯ ได้มีการจัดงานกิจกรรมงาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Focus” และงาน “รับสร้างบ้านและวัสดุ Expo” เป็นอีเว้นท์ทางการตลาดปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นปี และปลายปี เพื่อให้บริษัทสมาชิกได้เข้าถึง การแสดงสินค้าและบริการต่อผู้บริโภคโดยตรง และในปีนี้ได้วางแผนการทำโรดโชว์ในต่างจังหวัด เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อการเข้าถึงผู้บริโภค
สำหรับสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านในปี 2568 หากประเมินจากการแบ่งเซ็กเมนต์ (Segment) ตามระดับราคา ในเซ็กเมนต์บ้านต่ำกว่า 5 ล้านบาท คาดว่ากำลังซื้อในกลุ่มนี้เกิดการชะลอตัวและหดตัวลง จากปัจจัยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ที่เป็นผลมาจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
ขณะที่เซ็กเมนต์ระดับราคาบ้าน 5 – 10 ล้านบาท ได้รับผลกระทบมากรองลงมา เนื่องจากการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยากขึ้น ส่งผลให้การยื่นขอสินเชื่อได้รับการปฏิเสธ หรือ อนุมัติแต่ไม่เต็มวงเงินที่ต้องการ
ด้านเซ็กเมนต์ระดับราคาบ้าน 10 – 20 ล้านบาท ได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้ชะลอการตัดสินใจปลูกสร้างบ้านออกไป
ส่วนเซ็กเมนต์บ้าน 20 ล้านบาทขึ้นไป เป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้มีเงินออมอยู่แล้ว แต่ด้วยความไม่มั่นใจสถานการณ์การเมือง และเศรษกิจ ทำให้มีผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจออกไปบ้าง
ภารกิจในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป ยังคงเป็นปีที่ต้องปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง แต่จากวิสัยทัศน์ และภารกิจตามแผนงานที่วางไว้ ผู้บริโภคจะเกิดความรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง ในสินค้าและบริการที่มีมาตรฐานจากบริษัทสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจรับสร้างบ้านมากขึ้น และยิ่งจะขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น
“ในอนาคตสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านก็จะเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้เรื่องการสร้างบ้าน เป็นศูนย์กลางข้อมูล สถิติ และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจรับสร้างบ้านที่มีความเชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค และเป็นองค์กรกลางที่ช่วยพัฒนาความสามารถเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับบริษัทสมาชิก เป็นที่ยอมรับในวงกว้างได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งหมดนี้จะเป็นการทำงานในวาระ 3 ปี เพื่อให้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างการเติบโต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืนสืบไป” นายอนันต์กร กล่าว