LPP เตรียม “Livable Community Isolation” ใน 200 โครงการที่ดูแล เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงให้พร้อมรักษาตัวในคอนโด ตามนโยบาย Home Isolation 

432

LPP เตรียมความพร้อมโครงการ “Livable Community Isolation” เพื่อรองรับเจ้าของร่วมและผู้อยู่อาศัยที่อาจติดเชื้อโควิด-19 อาการไม่รุนแรง ให้สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้านแบบ Home Isolation (HI) ในคอนโดของตัวเองได้ โดยได้รับการดูแลอำนวยความสะดวกอย่างดีและคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของชุมชน  

นางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP)เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันที่ โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมในประเทศเฉลี่ย 2 หมื่นคน/วัน ผนวกกับสถานการณ์ที่น่ากังวลในเรื่องของจำนวนเตียง อุปกรณ์การแพทย์ รถพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ซึ่งทางภาครัฐจึงพิจารณาให้กลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง หรือเป็นผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียวสามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้านได้ (Home Isolation หรือ HI) ภายใต้การประสานการติดตามอาการจากแพทย์

ทั้งนี้ LPP ในฐานะผู้บริหารนิติบุคคลอาคารชุด จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมด้วยการจัดตั้งโครงการ “Livable Community Isolation” พร้อมรองรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ทวีจำนวนยิ่งขึ้นโดยให้ความดูแลและช่วยเหลือลูกบ้านในโครงการที่ LPP ดูแลกว่า 1.2 แสนครัวเรือน ใน 200 โครงการ ทั้งโครงการที่พัฒนาโดย บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN)  และโครงการภายนอก หรือ Non-LPN  ให้ก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปพร้อมกัน

โดยการจัดเตรียมโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในรูปแบบการแยกกักตัวรักษาที่บ้านสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรงหรือเป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวนี้ LPP ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลความรู้และหลักปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยแบบ Home Isolation  จาก พญ.นาฏ ฟองสมุทร ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ สภากาชาดไทย และกรรมการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  โดยการจัดสัมมนาออนไลน์ให้กับคณะกรรมการทุกนิติฯ รวมถึงเจ้าหน้าที่และบุคลากรของ LPP เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในแนวทางดำเนินการของ “Livable Community Isolation” และเพื่อให้บุคลากรในทุกชุมชนมีความพร้อมสูงสุด  ในการเตรียมตัวรับมือกับการระบาดที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

พญ. นาฎ กล่าวว่า  “เมื่อผู้ป่วยลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation  ของภาครัฐแล้วจะมีแพทย์ให้การรักษาแบบ Telemedicine หรือผ่านอุปกรณ์การสื่อสาร   โดยทีมแพทย์ผู้ดูแลจะมีการทำ VDO Call กับผู้ป่วยเพื่อติดตามอาการทุกวัน  และจัดส่งอาหาร 3 มื้อ  ยา และอุปกรณ์ต่างๆ ให้ผู้ป่วย   ทั้งนี้ภายใต้งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ซึ่งการคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น เพราะรัฐเปิดให้ใช้ชุดตรวจได้ด้วยตนเอง (Antigen Test Kit) ถ้าตรวจพบว่าติดเชื้อและต้องการแยกกักตัว ณ ที่อยู่อาศัย ให้ผู้ติดเชื้อโทรแจ้งที่ 1330 หรือลงทะเบียนผ่าน QR CODE ทันที เพื่อเข้าระบบรักษาของ สปสช.”

สำหรับมาตรการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยที่ LPP จัดเตรียมให้ลูกบ้านผู้พักอาศัยภายในโครงการ ในรูปแบบการแยกกักตัวภายในห้องพักอาศัยนั้น  จะมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยสถานพยาบาลต่างๆ ให้ผู้ ป่วยสามารถเข้าระบบการรักษาของรัฐตามโครงการ“Home Isolation” และจะติดตามดูแลรวมถึงให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ  จนกว่าผู้ป่วยจะได้รับความปลอดภัย อุ่นใจ และพบว่าผลตรวจเป็นNegative

72990

นางสาวสมศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในด้านการดำเนินการ  LPP ได้กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ของแต่ละนิติฯ คอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากหรือไม่แสดงอาการ (ผู้ป่วยสีเขียว) ภายใต้หลักการสำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกแก่ลูกบ้านในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ Timeline ของผู้ป่วยย้อนหลัง 7-14 วัน เพื่อแจ้งเจ้าของร่วมหรือผู้พักอาศัยทุกท่านให้สังเกตอาการของตนเอง  จัดส่งอาหาร ยา รวมทั้งสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมถึงการจัดเตรียมแม่บ้านคอยจัดเก็บขยะเศษอาหาร ขยะติดเชื้อตามเวลาที่กำหนดทุกวันด้วยมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง  พร้อมช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหากผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ  รวมถึงการอำนวยความสะดวกหากผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์หรือหากผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงของโรคจากผู้ป่วยสีเขียวเป็นสีเหลือง ฝ่ายจัดการจะประสานงานกับโรงพยาบาลเจ้าของไข้เพื่อให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล  โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและผู้อยู่อาศัยทุกท่าน

“สำหรับโครงการ Livable Community Isolation นี้ บริษัทให้ความสำคัญและเน้นย้ำถึงมาตรการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยผ่านการดำเนินงานที่เข้มงวด ทั้งเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยและปลอดเชื้อแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกคน โดยทุกขั้นตอนของการดำเนินงานจะต้องปฏิบัติตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยที่ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการดูแลชุมชนโดยรวม ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยของชุมชน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและไม่กังวลใจ ตามหลักชุมชนน่าอยู่ (Livable Community) “ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน” ของ LPP อีกด้วย” นางสาวสมศรี กล่าว  

“วิกฤติครั้งนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องร่วมมือกันฟันฝ่าไปให้ได้ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันให้ได้มากที่สุด นอกจากโครงการ Livable Community Isolation ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับกรณีลูกบ้านผู้อยู่อาศัยที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงและกักตัวเพื่อรักษาตนเองแบบ Home Isolation แล้ว    เรายังให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันการติดเชื้อภายในโครงการ   โดยผ่านการสื่อสารกับลูกบ้านและลูกค้าในทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับ-ส่งข่าวสารที่สำคัญและจำเป็น พร้อมรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการตั้งการ์ดที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม”

Leave A Reply

Your email address will not be published.