UNFPA ประเทศไทย ร่วมงาน “Bangkok Pride Festival 2024” ขับเคลื่อน “ICPD30”

179

UNFPA ประจำประเทศไทย ร่วมงาน “Bangkok Pride Festival 2024” เฉลิมฉลอง “Pride Month” ขับเคลื่อน “ICPD30” ประกาศเดินหน้าเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA ประจำประเทศไทย ร่วมงาน “Bangkok Pride Festival 2024” เนื่องในเดือนความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ขับเคลื่อนร่วมกับทีมสหประชาชาติในประเทศไทย พันธมิตรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาครัฐ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน พ.ศ.2567 ที่กรุงเทพมหานคร โดยธีมหลักของงานในปีนี้คือ Celebrations of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย
นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศคือสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิในการได้รับโอกาส และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและมีเกียรติ โดย UNFPA สนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของทุกคน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ เป็นประเทศที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติในสังคม ทั้งนี้ สิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่โลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน การลดความเหลื่อมล้ำ สุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความเท่าเทียมทางเพศต้องถูกผนวกรวมอยู่ในทุกมิติของการพัฒนาถึงจะสามารถบรรลุอนาคตที่เท่าเทียม ทั่วถึงและยั่งยืนได้

72990

“ตราบใดที่เป็นสิทธิและทางเลือกของแต่ละบุคคล ที่ได้ตัดสินใจด้วยตนเองอย่างได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว UNFPA สนับสนุนเสมอตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และสนับสนุนกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองสิทธิของทุกเพศ ทุกวัยรวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย และเชื่อว่าทุกคนควรได้รับสิทธิในการสร้างครอบครัวอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเขาจะมีวิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศใดก็ตาม แม้ว่าจะได้รับสิทธิแล้ว ความเข้าใจและการยอมรับจากสังคมถึงความเท่าเทียมที่หลากหลายก็ยังเป็นความท้าทาย ที่เราต้องร่วมมือกันผลักดันต่อไป” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวย้ำ

นางสาวสิริลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า การเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศในเดือนมิถุนายนนี้ร่วมกับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2567 ที่เพิ่งผ่านมา โลกเพิ่งครบรอบ 30 ปีของการประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development) หรือ ICPD ซึ่งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ

“เมื่อ 30 ปีก่อน ในการประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนา (ICPD) ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมสร้างพลังของสตรี และสิทธิมนุษยชน ในฐานะหัวใจของการพัฒนา ตลอดทางที่ผ่านมามีความก้าวหน้าเกิดขึ้นมากมาย แต่เรายังมีภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น ในปี พ.ศ.2567 นี้ เรามีช่วงเวลาแห่งความสำเร็จสามทศวรรษให้เฉลิมฉลอง และมีโอกาสที่จะบรรจุวาระของ ICPD โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ไว้อย่างมั่นคงในวาระของการพัฒนาแห่งอนาคต

ทั้งนี้ UNFPA ทั่วโลกจะจัดงานฉลอง ICPD30 รวมทั้งที่ประเทศไทย โดยทุกภาคส่วนและทุกคนสามารถร่วมเฉลิมฉลองได้โดยการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับ ICPD30 สนับสนุนการปรึกษาหารือที่เกี่ยวกับวาระของ ICPD30 ขยายเสียงสนับสนุนในเวทีอภิปรายต่างๆ ตลอดจนรวมกำลังเครือข่ายและการสนับสนุนใหม่ๆ ในขณะเดียวกันตลอดปี 2567 นี้ UNFPA ประจำประเทศไทยก็จะรวมกำลังเครือข่ายสื่อพันธมิตรเพื่อระดมหาพันธมิตรภาคีใหม่ๆ รวมถึงเยาวชน วัยรุ่น กลุ่มสตรี ผู้นำชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รัฐบาล และผู้นำทางความคิดที่ทรงอิทธิพล เพื่อเฉลิมฉลองและผลักดันวาระของ ICPD30” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวเชิญชวน

นอกจากร่วมในขบวนบางกอกไพร์ดในวันแรกของงานแล้ว UNFPA ประจำประเทศไทย ยังได้ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัด Pride Talk เสวนาในหัวข้อ “Empowering Equality: Perspectives on Marriage Equality and the Future of LGBTI Advocacy – อนาคตของความหลากหลายทางเพศกับการสมรสเท่าเทียม” ในเย็นวันที่ 2 มิถุนายน ณ ดิสคัฟเวอรี่พลาซ่า สยามดิสคัฟเวอรี่ กรุงเทพฯ โดยวิทยากรประกอบไปด้วย คุณกิตตินันท์ ธรมธัช ฟ้าสีรุ้ง นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย, คุณอาร์มและคุณพอร์ช นักแสดงชื่อดัง, และผู้แทนกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวไต้หวัน และมีผู้เข้าร่วมหลากหลายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมเพศ ผู้นำเยาวชน วัยรุ่น นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง  กล่าวว่า เป้าหมายของงานเสวนานี้คือการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยและครอบคลุมสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคนในการเรียนรู้ มีส่วนร่วม และสร้างเครือข่าย ซึ่งเวทีนี้มุ่งอภิปรายอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQIA+ ความท้าทาย และความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของกฎหมายสมรสเท่าเทียม, พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการยอมรับและผสานชาว LGBTQIA+ เพื่อความก้าวหน้าทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ, สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการดำเนินการเพื่อสร้างนโยบายและสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมคนทุกเพศ โดยเน้นผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ซึ่งจะดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูงและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก, ตลอดจนเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมที่มีค่าของชาว LGBTQIA+ ต่อสังคมและวัฒนธรรม พร้อมกับมีวิสัยทัศน์ถึงอนาคตของความเสมอภาคทางเพศและการยอมรับความหลากหลายทางเพศ

 

“ในขณะที่เราเริ่มต้นเดือนแห่งความภาคภูมิใจและเฉลิมฉลองความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องตระหนักว่างานของเรายังไม่สิ้นสุด ยังคงมีความท้าทายให้เอาชนะและอุปสรรคที่ต้องรื้อถอน อย่างไรก็ตาม ด้วยการรวมตัวกันเป็นชุมชน ด้วยการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง และด้วยการสนับสนุนการไม่แบ่งแยก เราสามารถสร้างอนาคตที่ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี ความเคารพ และความเท่าเทียมกัน และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและการยอมรับจากสังคมในฐานะเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ บนเวทีเสวนา วิทยากรต่างร่วมให้ข้อมูลว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะส่งผลเชิงบวกในเชิงสังคม สุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งส่งเสริมชีวิตของคู่รักและครอบครัว LGBTQIA+ รวมถึงสังคมไทยโดยรวม ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ เพื่อให้สังคมเตรียมมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและการยอมรับในสังคมไทยให้มากขึ้นนอกจากนี้วิทยากรแต่ละท่านได้แบ่งปันประสบการณณ์ส่วนตัวที่น่าจดจำของการเป็นตัวแทนของ LGBTQIA+ ในชีวิตหรืออาชีพที่ทำ และให้แนวคิดว่าจะสนับสนุนเยาวชนให้กลายเป็นผู้นำความเท่าเทียมเพื่อสร้างความแตกต่างในสังคมยุคใหม่ได้อย่างไร โดยเน้นย้ำว่า การศึกษา เป็นเรื่องที่จะช่วยให้สังคมเกิดความเท่าเทียมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ สามารถทำได้ผ่านการเผยแพร่ข้อมูล สอดแทรกหลักสูตรที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายโดยรวมถึงความหลากหลายทางเพศ เพราะหากสังคมได้รับความรู้และความเข้าใจอย่างทั่วถึงและถูกต้อง จะเป็นอีกวิธีเร่งรัดการยุติการตีตราทางเพศ การเลือกปฏิบัติ และทลายอคติที่มีต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ในสังคมมากยิ่งขึ้น

Leave A Reply

Your email address will not be published.