วิกฤตขยะถุง/ถ้วยพลาสติกถึงจุดเดือดแล้ว

1,541

หมุนไปกับโลก

วิกฤตขยะถุง/ถ้วยพลาสติกถึงจุดเดือดแล้ว

ห้างสรรพสินค้าและหน่วยงานหลายแห่งทั่วโลกพยายามรณรงค์ให้มีประชาชนลดละการใช้ถุงและถ้วยพลาสติกเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองแต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งเมื่อมีการถ่ายภาพทุ่งขยะพลาสติกน่าเกลียดลอยบนผิวทะเลที่กว้างยาวเป็นกิโล ๆ คนทั้งโลกเริ่มแตกตื่นและรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาขยะถุงขวดและถ้วยพลาสติกอย่างจริงจัง

หน่วยงานของสหประชาชาติ United Nations Environment Programme (UNEP) เตือนเมื่อปลายปีที่แล้วว่าถ้าไม่มีการจัดการสิ่งหนึ่งสิ่งใดกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ภายในปีพ.ศ. 2593 ทะเลและมหาสมุทรจะมีถุงพลาสติกมากกว่าปลา ทำให้ 193 ประเทศทั่วโลกลงนามในคำมั่นร่วมกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าจะแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทุกทะเลและมหาสมุทร  โดยแต่ละประเทศจะไปหามาตรการและตั้งเป้าหมายในการลดจำนวนขยะพลาสติกในทะเล

หนังสือพิมพ์ Independent รายงานข่าวว่านายกรัฐมนตรีหญิง เทเรซ่า เมย์มีเป้าหมายที่จะลดขยะพลาสติกทั้งหมดที่สามารถลดได้ภายในปีพ.ศ. 2595 โดยในปีที่แล้วรัฐบาลอังกฤษเริ่มจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกแล้วโดยให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกต้องคิดค่าถุงใส่สินค้าใบละ 5 เพนนี (ประมาณ 2.25 บาท) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าลดการใช้ถุงพลาสติก และยังห้ามไม่ให้ใช้เม็ดพลาสติก ไมโครบีดส์ในการผลิตสินค้าอีกต่อไป

 

ไมโครบีดส์ คือ เม็ดพลาสติกขนาดเล็กมาก มีการนำไปใช้ในการผลิตยาสีฟัน เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าขัดหน้าและผิว เป็นเม็ดพลาสติกที่มีอันตรายเนื่องจากมีขนาดเล็กจิ๋ว สามารถอยู่คงทนและดูดสารพิษ เมื่อนำไปใช้แล้วก็จะไหลปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติและเข้าไปอยู่ในตัวสัตว์น้ำเมื่อมนุษย์นำมาบริโภค จะเข้าสู่ร่างกายและมีโอกาสกลายเป็นสารก่อมะเร็งและขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ

 

นอกจากประเทศอังกฤษแล้วมีรัฐบาลกลางและท้องถิ่นและหน่วยงานเอ็นจีโอทั่วโลกที่ร่วมกันรณรงค์แก้ปัญหาขยะถุงและขวดพลาสติกโดยประเทศที่แข็งขันที่สุดคือประเทศนอร์เวย์ ซึ่งรบกับปัญหาขยะพลาสติกและห้ามใช้ไมโครบีดส์มานานแล้ว ประเทศนี้มีศูนย์รีไซเคิ้ลบรรจุภัณฑ์พลาสติก 120 แห่งทั่วประเทศ สามารถนำขยะพลาสติก 60 % ของประเทศกลับมาใช้ใหม่ และล่าสุดรัฐบาลตระหนักแล้วว่าต้องหานวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มการรีไซเคิ้ลพลาสติก โดยเน้นที่พลาสติกชีวภาพ

 

นอร์เวย์เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล และการค้นหานวัตกรรมใหม่ โดยเมื่อต้นปีที่แล้วหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของนอร์เวย์ Norner Research ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในโครงการ FuturePack ร่วมกับสถาบันต่าง ๆ ในประเทศและต่างประเทศเพื่อค้นคว้าหาเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตพลาสติกชีวภาพและนวัตกรรมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยมีงบประมาณขั้นต้นสำหรับโครงการนี้ที่ 2.5 ล้านยูโร (ประมาณ 98 ล้านบาท)

 

ขณะที่ประเทศนอร์เวย์ เป็นผู้นำในเรื่องการกำจัดขยะพลาสติกในทะเล สื่อตะวันตกยกย่อง ประเทศเคนยา ว่ามีกฎหมายเพื่อต่อสู้ขยะพลาสติกที่รุนแรงที่สุดในโลก

 

รัฐบาลเคนยาออกกฎหมายซึ่งมีผลใช้บังคับปลายเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมาห้ามผลิตขนส่งและนำเข้าถุงพลาสติกมีโทษทั้งจำคุกสูงสุด 4 ปีและปรับที่ค่อนข้างโหดตั้งแต่ 19,000 – 38,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 595,000 – 1,190,000 บาท) ยกเว้นบรรจุภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม

 

กฎหมายใหม่ของเคนยา ทำให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกต้องหันไปใช้ถุงกระดาษ กล่องกระดาษใส่สินค้าให้ลูกค้า ทำให้งานการพับถุงกระดาษและซื้อขายถุงและกล่องกระดาษมือสองกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

 

ประเทศอื่น ๆ ในโลกที่เริ่มมาตรการต่อสู้ขยะพลาสติกอย่างจริงจังแล้วมีเมืองมอททรีออล ของประเทศแคนาดา ประกาศไม่ให้มีการใช้ถุงพลาสติกเพียงครั้งเดียวเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เช่นเดียวกับรัฐบาลท้องถิ่นในภาคตะวันตกของออสเตรเลียได้ประกาศห้ามการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียว ขณะที่ประเทศศรีลังกาได้ออกประกาศห้ามใช้โฟมและถุงพลาสติกไปแล้ว

 

เกาะแห่งหนึ่งในทะเลคัตเทกัต (Kattegat) ชื่อ Samso ของเดนมาร์กมีประชากร 3,000 กว่าคน เกาะนี้ได้ประกาศวิสัยทัศน์ให้เป็นเกาะที่ปราศจากถุงพลาสติกโดยสิ้นเชิง โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปร้านค้าปลีกทุกแห่งบนเกาะจะใช้แต่ถุงผ้าที่ทำจากฝ้ายออร์แกนิกเท่านั้น

 

ความเคลึ่อนไหวต่อต้านขยะพลาสติกเริ่มดุเดือดเช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของสังคมทั่วโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทิศทางเช่นนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทย ถ้าคนไทยมองเห็นและกระโดดเข้าร่วมกับขบวนการแก้ปัญหาขยะพลาสติกตามกระแสโลก

 

รัฐบาลไทยควรออกมาตรการและกฎหมายเพื่อลดการใช้ภาชนะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ ปรับปรุงระบบรีไซเคิ้ลขยะพลาสติกและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติในระดับประเทศ

 

ประเทศไทยมีวัฒนธรรมผลิตบรรจุภัณฑ์จากพืชทั้งใบตอง ใบบัวและพืชหลายชนิด สามารถผลิตกระดาษและกระเป๋าผ้าและจักสาน ได้ในระดับท้องถิ่น รวมทั้งมีวัตถุดิบที่ใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างงานและธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ……….

ภาพจาก BBC ระบุว่ามีขยะไหลลงสู่ทะเลปีละกว่า 8 ล้านตัน

าพจาก IMAS/JENNIFER LAVERS HANDOUT แสดงให้เห็นขยะที่กำลังเกิดขึ้นที่ชายหาดทั่วโลก

ชาวเคนยาหันมาใช้ถุงที่ทำจากใบไม้หลังจากที่มีกฎหมายห้ามการผลิตขนส่งและนำเข้าถุงพลาสติก

ภาพกราฟฟิกของ รอยเตอร์ แสดงให้เห็นถึงประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มมีมาตรการห้ามการใช้ถุงพลาสติกในระดับความเข้มข้นต่างกันและประเทศที่ไม่มีมาตรการใด ๆ

Leave A Reply

Your email address will not be published.