สองฝั่ง เจริญกรุง-เจริญนคร จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

1,842

  ถนน เจริญกรุง ที่ตั้งต้น จาก แยกถนนตกไป จรด ถนนสนามไชย ระยะทางราว 8.5 กิโลเมตร(กม.)  สร้างขึ้นใน สมัยรัชการที่ 4  เพื่อรองรับ ชาวต่างชาติ ที่เข้ามาค้าขายในบางกอกช่วงเวลานั้น  สถานะของ ย่านเจริญกรุงเปรียบเหมือนย่านซีบีดีสำคัญๆเช่น สีลม หรือ ราชดำริ  ของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน

                      ยุคเฟื่องฟู ริมฝั่งแนวถนนเจริญกรุง   มีเรือกลไฟ   เรือสำเภา   ลอยลำ ขนถ่ายสินค้าขึ้นฝั่ง  เรียงรายริมฝั่งเจ้าพระยาตลอดแนว ถนนเจริญกรุง โดยเฉพาะช่วงซอยเจริญกรุง 71-20     การค้ายุคนั้น ดึงดูดผู้คน จากยุโรป จีน อินเดีย อินโดนิเชีย บ้างเป็นพ่อค้า บ้างเป็น ช่างต่อเรือ หรือ ขายแรงงาน  ฯลฯ  หลายกลุ่มลงหลักปักฐานตั้งชุมชน มีลูกหลานสืบมาจนถึงวันนี้

                 อาคารเก่าแก่   ย่านเจริญกรุง และบริเวณข้างเคียงหลายแห่ง  ที่ ถอดแบบ สถาปัตยกรรมยุโรป แนวนีโอคลาสสิค  เช่น  ตึกเก่าโรงแรม แมนดาริน โอเรียนเต็ล    สถานทูตโปรตุเกส โบสถ์กาลหว่าร์  บ้านทูต ฝรั่งเศส  โรงภาษีร้อยชักสาม  อาคารสยามกันมาจล ฯลฯ      มัสยิดฮารูณ มัสยิดบ้านอู่  และอีก หลายแห่ง แสดงให้เห็นถึงศิลปอิสลาม    เช่นเดียวกับ  บ้านเจ๊สัวจีน โซวเฮงไถ่ย่านตลาดน้อย   หรือ ท่าเรือ ฮ่วย จุง ล้ง  ซึ่งหมายถึง ท่าเรือกลไฟ (ล้ง 1919ปัจจุบัน)และบ้านหวั่งหลี ที่สร้างอย่างจีน 

ฮ่วย จุง ล้ง  ซึ่งหมายถึง ท่าเรือกลไฟ (ล้ง 1919ปัจจุบัน)

     ความรุ่งเรืองของถนนเจริญกรุง    ตามมาด้วยถนนเจริญนคร ฝั่งฝั่งธนบุรี ( แยกลาดหญ้าสพานข้ามคลองดาวคะนอง)ระยะ 4.9กม. โดยประมาณ  ที่เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2483  หรือหลังถนนเจริญกรุง 50 ปีโดยประมาณ    เดิมมีเพียงชุมชนริมน้ำ เมื่อถนนปรากฏตัว ท่าเรือ โกดัง สินค้าก็แทรกตัวตามมา              

72990

                  แต่เมื่อโฉมหน้าการค้าเปลี่ยน ย่านธุรกิจถ่ายเทไปสู่ ถนนสีลม และสาธร ชีพจรธุรกิจริมฝั่งเจ้าพระยาย่านนี้ นี้ก็แผ่วตาม มีเพียง  โรงแรมโอเรียนเต็ล   ที่มีอายุนับย้อนหลังได้กว่า 130  ปี   เพียงธุรกิจเดียว ที่ยังโดดเด่นสุดหลังยุคการค้าทางเรือริมฝั่งเจ้าพระยาจากไป  โรงแรมหรูหราแห่งนี้ เปลี่ยนมือมาหลายรอบก่อนมาหยุดที่  ตระกูลกรรณสูตร และ แมนดาริน โฮเต็ล โฮลดิงส์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.โอเฮชทีแอล  เจ้าของโอเรียนเต็ลปัจจุบัน

                    ช่วง 30 ปีก่อนหน้านี้ จังหวะการลงทุน ริมเจ้าพระยาฝั่งถนนเจริญกรุง เหมือนสายน้ำเจ้าพระยาที่ไหลเอื่อยๆ  มีโรงแรมหรูอีก 2 แห่งเปิดขึ้นมาประชัน โอเรียนเต็ล คือ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (เจริญกรุง30)ในปี 2525 และ โรงแรม แชงกริลา (เจริญกรุง46) ในปี 2529 ช่วงเวลาถัดมา ถึงเริ่มมีการลงทุน คอนโดมีเนียม ริมแม่น้ำ แต่อยู่ฝั่งธนบุรี  คือ โครงการ รัตนโกสินทร์แมนชั่น  ฝั่งธนบุรีใกล้สะพานพระปิ่นเกล้าในปี 2537 และ  บางกอกริเวอร์พาร์ค แถวทรงวาด  ในปี 2537   ทั้ง แห่งถือเป็นคอนโดมีเนียมริมแม่น้ำ รุ่นบุกเบิก

                    กระทั่งเข้าสู่ทศวรรษ 2550  การลงทุนริมฝั่งเจ้าพระยาทั้งโซน เจริญกรุงขนานเจริญนคร และพื้นที่ใกล้เคียง จึงเข้าสู่สภาวะเฟื่องฟู   นับจากปี 2550 ถึงปัจจุบันมีโครงการลงทุน เฉพาะโซนเจริญกรุง โดยเฉพาะช่วงระหว่างซอยเจริญกรุง 30-76  และฝั่งเจริญนครช่วงซอยเจริญนคร 59 ไปถึงเขตคลองสาน  มีการลงทุนมูลค่ารวมกัน มากกว่าแสนล้านบาท 

                 ปี 2550 บมจ.ไรมอนด์แลนด์ เปิดตัวคอนโดมิเนียมริมเจ้าพระยา ฝั่งเจริญนคร(เจริญนคร 13) มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาทบนพื้นที่กว่า 12 ไร่ซึ่งเป็นคลังสินค้าเดิม   ตามด้วยกลุ่มโสภณพนิช (สายชาตรี) ลงทุนโรงแรมและคอนโดมีเนียมหรูแบรนด์ “ชาเตรียม” (แยกถนนจันทร์ตัด ถนนเจริญกรุง) มูลค่า 4,000 ล้านบาท

               ก่อนที่กลุ่มสิริวัฒนภักดี  ในนาม บริษัท ทีทีซีแอสเสท พัฒนาโครงการ มอลล์ย้อนยุคริมเจ้าพระยา เอเชียติกส์ เดอะริเวอร์ ฟอรนท์ เฟสแรก มูลค่ากว่า พันล้านบาทในปี 2555  บนพื้นที่กว่า 30 ไร่เดิมเป็นโกดังสินค้าของ บริษัท อีสต์เอเชียติกส์ ที่ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซิ้อมาพร้อมกับ อาคารสำนักงานใหญ่สถาปัตยกรรมยุโรปมูลค่า 6 พันล้านบาท  

            กระแสการลงทุนริมฝั่งเจ้าพระยามาพุ่งขึ้นสุดขีดในปี 2558 เมื่อกลุ่มเจียรวนนท์  (สายเจ้าสัวธนินท์) ร่วมกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ เปิดตัว ไอคอนสยาม โครงการผสมผสานที่พัฒนาศูนย์การค้าและคอนโดมีเนียมหรู บนพื้นที่  50 ไร่ ฝั่งเจริญนคร (เจริญนคร5 )มูลค่าโครงการกว่า 5.4  หมื่นล้านบาทพร้อมประกาศจะเป็นแลนด์มาร์คระดับโลก  และเริ่มนับถอยหลังเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ 

ไอคอนสยาม

                และช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ ไอคอนสยาม เปิดตัว   บมจ.คันทรี โดยกลุ่มเตชะอุบล  ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ เจ้าพระยาเอสเตท พัฒนาโรงแรมและคอนโดมีเนียมหรูโดยดึงเครือโฟร์ซีซั่นส์ ร่วมบริหารบนพื้นที่  40  ไร่ ระหว่างซอยเจริญกรุง 62-64 โดย เช่าที่จาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มูลค่าโครงการ 3.2  หมื่นล้านบาท

               หลังการประกาศ เปิดตัวโครงการไอคอนสยามและเจ้าพระยาเอส เตท มีโครงการคอนโดมีเนียมหรู  โรงแรมหรู เปิดตัวตามอีกหลายโครงการ (ดูตารางประกอบ)  รวมทั้งโครงการพัฒนาอาคาร โรงภาษีร้อยชักสาม (เจริญกรุง36 ) อาคาร สถาปัตยกรรมยุโรปที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ กรมธนารักษ์  เปิดทางให้เอกชนรายหนึ่ง  เข้าประมูลพัฒนาเป็นโรงแรมหกดาว ขณะที่มีกลุ่มคนเล็กๆค้านที่รัฐให้เอกชนเข้าทำประโยชน์กับอาคารที่รงคุณค่านี้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น   

                    เสาเข็มของโครงการใหม่ที่ตอกลง 2 ฝั่งเจริญกรุงเจริญนครส่งแรงสั่นสะเทือนถึงธุรกิจเดิมโดยเฉพาะ    โอเรียนเต็ล     การประกาศแผนปรับปรุง ครั้งใหญ่ของ โรงแรมโอเรียนเต็ล ก่อนหน้านี้  ซึ่งตามแผนคาดว่าจะเริ่มภายในปีนี้โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2564     เสมือน แผนเตรียมรับมือ ของโอเรียนเต็ล ในสมรภูมิโรงแรมริมแม่น้ำเจาพระยา ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หรือ กระแสเปิดตัวโครงการคอนโดมีเนียมหรูโดยชูวิวเจ้าพระยาเป็นจุดขาย  ที่ถูกโยงว่าเป็นผลพวงจากการปรากฏตัวของอภิโครงการที่กล่าวถึงข้างต้น   

                 บทสรุปข้างต้น ถูกเพียงส่วนเดียวเท่านั้น   เพราะ กระแสลงทุนริมฝั่งเจ้าพระยา ขยับตัวสะสมมาพักใหญ่แล้ว  อันเป็นผลพวงจาก จากตลาดที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และตลาดไลฟ์สไตล์ที่ผู้บริโภคกระหายประสบการณ์ใหม่ไม่รู้จบ   เช่นกรณี การพัฒนา ท่ามหาราช มอลล์ริมเจ้าพระยาของ บริษัท สุภัทรา เรียลเอสเตท จำกัด ที่เปิดบริการเมื่อปี 2558  หรือ การ บูรณะอาคารเก่า ริมฝั่งเจ้าพระยา  เป็น บูติก โฮเต็ล เช่น กรณี พระยาพลาโซ ย่านบางยี่ขัน ที่เปิดบริการในปี 2551 รวมทั้งการปรับเปลี่ยน หน้าตา ของเกสเฮ้าส์ย่านท่าเตียน      กล่าวโดยสรุปก็คือ กระแสตื่นลงทุนริมเจ้าพระยานั้น มาจาก ปัจจัย คือ ศักยภาพโดยธรรมชาติของพื้นที่ริมเจ้าพระยา และ ทุนที่ค่อยขยับ ก่อนโถมลงมาก้อนมหีมาที่ถูกถมลงมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  

                วันนี้หากล่องเรือจากท่าน้ำนนทบุรีไปยังสาธร สองฝั่งเจ้าพระยาตั้งแต่เขตนนทบุรีมีโครงการคอนโดมีเนียมริมแม่น้ำรุ่นบุกเบิก เมื่อเข้าสู่เขตพระนคร  สัปปายะสภาสถาน รัฐสภาแห่งใหม่เริ่มเห็นเป็นรูปร่างแล้ว   เมื่อเรือลอดผ่านสะพานพุทธผ่านย่านการค้าราชวงศ์ โครงการตึกสูงหนาตาขึ้น      ริมฝั่งตรงข้าม บางจุด  อาคารเก่า กำลังถูกทุบทิ้ง   ป้ายแขวนเขียนอักษรตัวโตๆว่า”ให้เช่า  “ คงหมายถึงพื้นที่ริมน้ำตรงนั้น  เมื่อผ่านเข้าสู่โซน เจริญกรุงเจริญนคร ฉากริมน้ำก็แปลกตาขึ้น

               ฝั่งเจริญกรุง อาคาร    สถานทูต โปรตุเกส  บ้านทูต ฝรั่งเศส  โรงแรมโอเรียนเต็ล  และอีกหลายๆแห่ง เปรียบเหมือนมรดกความรุ่งเรืองจากยุคการค้าเรือกลไฟเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่มอบให้ปัจจุบัน   อาคารเก่าแก่เหล่านี้ และชุมชนโดยรอบคือความพิเศษของเจริญกรุง ที่นักลงทุนพยายามเชื่อมคุณค่าเหล่าเข้ากับโครงการที่กำลังพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินที่ลงทุน     ขณะที่ฝั่งเจริญนคร ตรงข้าม อาคารทรงโมเดิร์นที่สูงและมีที่สูงกว่า   หันหน้าเข้าหาแม่น้ำเช่นเดียวกับอาคารยุคเริ่มต้นของ ย่านเจริญกรุง   โครงการยักษ์ที่ แทรกตัวอยู่ท่ามกลางชุมชนริมแม่นั้น มีนัยให้ตีความได้หลายแง่มุม และชวนให้คิดถึงกรณีเสียงระฆังจากวัดไทร

                  เป็นเรื่องยาก ในการคาดเดาถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างเฉาะเจาะจง   แต่พื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา โซน เจริญกรุง เจริญนคร จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป . .

Leave A Reply

Your email address will not be published.