โลกการเงิน………….ที่คุณไม่รู้จัก

1,296

ชญานิน ศาลายา

สาขา เป็นสัญลักษณ์ความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมแบงก์ มายาวนาน ยุคก่อน แบงก์ใหญ่ แข่งกันขยายสาขาชิงพื้นที่ธุรกิจไปทั่วประเทศ   จำนวนสาขาจึงเป็นดัชนีบอกความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของแบงก์นั้นๆไปโดยปริยาย          

แต่วันนี้ สถานการณ์วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป แม้ไม่ถึง 360 องศาแต่ก็เฉียดๆ    เพราะ วิธีคิดแบงก์พลิกกลับ จากแข่งกันเปิดสาขาหันมาปิดสาขาแทน      ช่วงปีเศษๆที่ผ่านมา ข่าวแบงก์ปิดสาขาถูกรายงานต่อเนื่อง เข้าใจว่านักข่าวผูกประเด็น ปรากฎการณ์ดังกล่าวกับการมาของยุคดิจิทัล อารมณ์ประมาณของเก่าไปใหม่มาเพื่อเพิ่มความน่าสนใจของประเด็นข่าว

การเงิน

เมื่อเร็วๆนี้ แบงก์ชาติออกมาแถลง สถานการณ์ปิดสาขาแบงก์ ในรอบ เดือน (ณ สิงหาคม2560) ว่า มีแบงก์ปิดสาขา 192 แห่งเหลือ6,841 สาขา  จากเดิมมี 7,033  สาขา ลดต่อเนื่องจากปี 2559   ผู้บริหารแบงก์ใหญ่รายหนึ่งระบุว่าพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป หันไปทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์มากขึ้น คือสาเหตุที่ทำให้แบงก์ต้องลดจำนวนสาขาในสอดคล้องกับภูมิศาสตร์ตลาดใหม่    นัยหนึ่ง คนยุคนี้นั่งกรอกข้อมูลหน้าจอ หรือ กดข้อมูลมือถือแทนเดินเข้าแบงก์มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ

สถิติแบงก์ชาติระบุ   ถึงเดือนธันวาคม 2559 คนไทยเปิด บัญชีอินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้งแล้ว 15  ล้านบัญชี โดยประมาณ และ โมบายแบงก์กิ้งอีก20 ล้าน   และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะขอบเขตการทำธุรกรรมอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรือ โมบายแบงก์กิ้ง วันนี้ กำลังจะก้าวกระโดด จาก ธุรกรรมดิจิทัลพื้นๆ  จำพวก  โอน ถอน ฝาก    ไปสู่การ กู้เงินผ่าน โมบายแบงก์กิ้งที่แบงก์แห่งหนึ่งอ้างว่า สามารถอนุมัติภายในครึ่งชั่วโมง (หมายเหตุ กรณี เอกสารครบ แล้วก็ คุณสมบัติส่วนตัวต้องโอเคด้วย)   แค่จินตนาการถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ตื่นเต้นแล้ว นั่งกดๆๆๆ ข้อมูลใส่สมาร์ทโฟน (ไม่ใช่ไปนั่งกรอกแบบฟอร์มต่อหน้าพนักงานที่แบงก์) ที่ไหนก็ได้ ไม่ถึงชั่วโมง คุณจะมีเงินใช้ทันที …. ว้าว

72990

การเงิน

อุตสาหกรรมแบงก์ ขยับเข้าสู่ยุค อีแบงก์กิ้ง หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 แต่มาคึกคักในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา  แบงก์เริ่มเปิดบริการทางจอ ผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ตามด้วยโมบายแบงก์กิ้ง กันถ้วนหน้า ก่อนมาคึกสุดขีดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง  เมื่อเศรษฐกิจดิจิทัลผงาดขึ้นมา โครงสร้างพื้นฐานระบบสื่อสารโทรคมนาคมของไทย มาถึงยุค 4 G รัฐบาลประยุทธ์ชูธง THAILAND 4.0 

การเงิน

ทุกวันนี้ นายแบงก์พูดเรื่อง Fintech  กับ Blockchain มากกว่า ดอกเบี้ย หรือ อัตราแลกเปลี่ยนเสียอีก    E-wallet ที่แทรกตัวเข้ามาในธุรกิจการเงิน   ทำให้ร้านสะดวกซื้อ บริษัทมือถือ สามารถทำธุรกิจคาบเกี่ยวกับแบงก์และอื่นๆอีกมากมาย  

ปี 2559 กระทรวงการคลังภูมิใจเสนอ พร้อมเพย์ (ลงทะเบียนยืนยันตัวตน) โดยชูจุดขาย  เป็นบัญชีรับเงินช่วยเหลือหรือ คืนภาษี จากรัฐ   โอนเงินต่างธนาคารไม่มีค่าธรรมเนียม สำหรับ 5,000 บาทแรก (เหนือกว่าอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งที่ฟรีเฉพาะโอนเงินผ่านบัญชีในแบงก์เท่านั้น)   ถัดมาหมาดๆ เดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านไป  แบงก์ชาติประกาศใช้ QR code หรือ รหัสคิวอาร์ มาตรฐาน ภาพคล้ายตราสัญลักษณ์ประทับตรายาง หมึกไม่เต็ม ตอนนี้แบงก์ใหญ่จองคิวขอเปิดบริการนี้กันถ้วนหน้า

โลกการเงิน

เป้าหมายของการขับเคลื่อนของภาครัฐและการเคลื่อนไหวของเอกชนคือมุ่งไปสู่ สังคมไร้เงินสด ซึ่งจะลดต้นทุนมหาศาล (แต่ยังไม่มีใครบอกชัดๆว่าลดต้นทุนใครจะได้ประโยชน์สูงสุด)  ต่อไปการซื้อของในทุกๆที่รวมทั้งสินค้า จุ๊กๆ จิ๊กๆ สามารถชำระเงินด้วยการแสกนคิวอาร์โค้ดด้วยมือถือขั้นตอนเดียวจบไม่ต้องควักเงินและรอตังทอน(ถ้ามี)  

 

สภาพแวดล้อมใหม่ที่กล่าวมา คือปัจจัยเปลี่ยน กายภาพของแบงก์ สาขาย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์ อนาคตจำนวนสาขาจับต้องได้ จึงมีแต่ลดลง แม้ไม่ถึงขั้นเป็นธนาคารไร้สาขาเต็มรูปแบบเช่นในยุโรปบางประเทศ  เพราะแบงก์ชาติยังใจไม่ถึงพอ  แต่วงการแบงก์และรูปแบบการใช้เงินในชีวิตประจำวันกำลังเปลี่ยน   จากนี้ไป อะไรก็ไม่เหมือนเดิม โลกการเงินที่คุณไม่รู้จักกำลังจะมาถึง

Leave A Reply

Your email address will not be published.