โลกพลิกผัน เมื่อสรรพสิ่งมีชีวิต
โลกพลิกผัน เมื่อสรรพสิ่งมีชีวิต
โลกธุรกิจก้าวเข้าสู่ยุคพลิกผัน อันเป็นผลพวงจากการปฏิวัติดิจิทัลที่ก่อตัวมาระยะหนึ่งแล้ว หลายๆคนอาจไม่ทันสังเกตว่าสิ่งรอบตัวเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมีของใหม่มาแทนของเก่าที่เราคุ้นเคย เรื่องไม่ปกติกลับกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ไอโอที (Internet of things) หรือ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีชีวิตคน และโมเดลธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง
ไอโอที คือ การสิ่งของเครื่องใช้ ที่อยู่ใกล้และรอบๆ ตัวเรา ตั้งแต่ สมาร์ทโฟน ทีวี ตู้เย็น เครื่องปิ้งขนมปัง ฯลฯ ฉลาดขึ้น จากชิบ และ เซ็นซอร์ที่ฝังอยู่ข้างใน ทำหน้าที่ ตรวจจับ บันทึก และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันบนเครือข่ายได้ ซึ่งเปรียบเสมือน ของใช้เหล่านั้นสามารถ คุยกันได้ ไม่ใช่ต่างชิ้น ต่างเครื่อง ต่างอยู่ ไม่มีปฏิสัมพันธ์เหมือนเดิมอีกต่อไป
มีการคาดการณ์ว่าเมื่อ ยุค 5จี มาถึงในเร็วๆ นี้ การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เร็วกว่ายุค 4จี (ตอนนี้) บรรดาสรรพสิ่งจะพลิกโฉมครั้งใหญ่ ไม่ว่าอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผู้รู้ประเมินว่าจะได้เห็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยไม่มีคนขับภายใน 10 ปีข้างหน้านี้
ตัวอย่างความสัมพันธ์ลักษณะนี้ ที่เราคุ้นเคยกันดีคือ การเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟนกับสมาร์ทวอทช์ โดยเฉพาะคนชอบออกกำลัง เวลานี้ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย กำลังชิงการนำว่าเป็นผู้บุกเบิกยุคไอโอทีกันอย่างเข้มข้นเพราะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมเลยทีเดียว
เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ ซัมซุงผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของเกาหลีแนะนำ แอพ สมาร์ทธิงค์พร้อมสมาร์ททีวีที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ในบ้าน ต่อไปใครครอบครองรีโมทไม่เพียงแต่ครอบครองจอทีวีเท่านั้น หากยังแผ่อิทธิพลไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อีกด้วย
ขอบเขตการเชื่อมต่อระหว่างของใช้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือรถยนต์ เท่านั้น ก่อนหน้านี้สื่อต่างประเทศรายงานว่า ลีวายส์ กับกูเกิล จับมือกัน ออกแจ็คเก็ตรุ่นพิเศษ (ไม่แน่ใจว่ามีขายในเมืองไทยหรือเปล่า) สำหรับผู้ชื่นชอบการขี่จักรยาน โดยผู้สวมใส่สามารถ ใช้สมาร์ทโฟน ด้วยการแตะแขนเสื้อบริเวณข้อมือ เพื่อรับสาย จัดการข้อความ ปรับระดับเสียง หรือ นำทางด้วยกูเกิลแมพ
ในบ้านเรา เริ่มเห็นภาคธุรกิจเริ่มขยับนำ ไอโอที มาใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการกันมากขึ้น เช่นปีที่แล้วค่ายเอ็มจี ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนเชื้อชาติอังกฤษ นำระบบ I smart ระบบที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมคนขับ และใช้มือถือสตาร์ทรถหรือเปิดเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
หรือวงการอสังหาริมทรัพย์หลายเจ้า เสริมภาพลักษณ์องค์กรด้วยการนำไอทีมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตน เช่น ค่ายเอพีพัฒนาตู้รับฝากของอัจฉริยะ I-locker ขึ้นมาใช้กับบางโครงการ ระบบดังกล่าวมีขึ้นตอนโดยสังเขปคือ เมื่อมีพัสดุผู้ส่งต้องแสดงตัวตน เข้าระบบระบุเบอร์โทรเจ้าของห้อง (ผู้รับ) จากนั้นระบบจะส่งข้อความเตือนถึงเจ้าของห้องพร้อมรหัสและคิวอาร์โค้ดเพื่อนำมารับของด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมง
ภาพการเคลื่อนไหวข้างต้น เปรียบเหมือนบทโหมโรงของยุคไอโอที ซึ่งยากจะคาดเดาว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ปลายทางของยุคแห่งความล้ำด้านไอที จะมีหน้าตาเป็นเช่นไร
หากจินตนาการตามหนังแนว ไซ-ไฟ จากฮอลลีวูดหลายเรื่อง ที่บทสร้างสรรค์ ให้หุ่นยนต์สามารถพัฒนาสติปัญญาตัวมัน ขึ้นมาจนคิดอ่านต่อต้านมนุษย์นายผู้สร้างมันมา จึงเป็นไปได้เช่นกันว่า ในอนาคตอย่างน้อย 30 ปี เมื่อสรรพสิ่งพัฒนาสติปัญญาขึ้นมาสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเครือข่ายได้สมบูรณ์ขึ้น มนุษย์อาจถูกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมหัว กันสไตร์คก็เป็นได้ …ใครจะไปรู้ .