เจาะลึก “Collective Language :  สัมผัส สถาปัตย์” แนวคิดการจัดงานสถาปนิก’67

568

หากเอ่ยถึงงานสถาปนิก เชื่อว่าหลายท่านรู้จักกันดี ด้วยเป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติและจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2567 นี้จะเป็นครั้งที่ 36 โดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้แถลงข่าวประกาศความพร้อมเตรียมจัดงานสถาปนิก’67 ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด Collective Language :  สัมผัส สถาปัตย์ ในการนี้ ชุตยาเวศ  สินธุพันธุ์ และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี ในฐานะประธานจัดงานสถาปนิก’67 ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแบบเจาะลึกถึงแนวคิดและไฮไลต์ของงานที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

ย้อนฟังที่มาของการจัดงานสถาปนิก

 

ชุตยาเวศ : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานสถาปนิก เพื่อเผยแพร่วิชาชีพและผลงานสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เมื่อก่อนจัดงานเพื่อสถาปนิกโดยตรง ก็คือเป็นการรวมตัวเหล่าสถาปนิกมานำเสนอผลงานในรูปแบบเอ็กซิบิชั่น เพื่อให้ทุกคนได้เห็น เพราะเมื่อก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำเอ็กซิบิชั่นมาหลาย 10 ปีแล้ว ทุกคนจะได้เห็นงานว่าจริงๆ แต่ละบริษัทสถาปนิก ทำงาน มีผลงานอะไรกัน แล้วก็มีการเชิญนักพูด อาจารย์หลายๆ ท่านระดับโลกที่เป็นสถาปนิกมาพูดในงานอาษาหลายคนมาก เช่น Diébédo Francis Kéré, Anne Lacaton & Jean-Philippe Vassal, Aaron Betsky และ Kazuyo Sejima & Ryue Nishizawa เป็นต้น และด้วยความเป็นสมาคมฯ จัดงานทำให้เราสามารถที่จะเชิญคนสำคัญระดับนานาชาติมาได้ งานนี้จึงเติบโตและถูกขยายสเกลมาเรื่อยๆ จนมีอยู่ช่วงนึงที่ทีมงานสถาปนิกมีความเห็นว่าไม่ควรจะเป็นแค่งานที่สถาปนิกมาดูกันเองเท่านั้น แต่ควรจะใช้งานนี้เปิดโอกาสให้ความรู้กับคนทั่วไปด้วย ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วสถาปนิกมีหน้าที่อะไร ทำอะไรสำหรับสังคมต่างๆ ได้ เลยกลายมาเป็นฟอร์แมตในรูปแบบงานปัจจุบัน ทุกอย่างที่เคยจัดมาก็มีหมด และมีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งพวกเรามาขยายความให้ชัดเจนขึ้นให้ตรงกับบริบท ณ ปัจจุบันมากขึ้น และตรงกับความต้องการของทั้งทางวิชาชีพเองแล้วก็ทางบุคคลทั่วไปด้วย

72990

 

‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์

 

กุลธิดา : สำหรับ ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการจัดงานสถาปนิก’67 ที่มาก็ด้วยว่ามนุษย์ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อติดต่อกัน โดยปัจจุบันพบว่ามีภาษามากกว่า 7,000 ภาษาทั่วโลกที่ถูกใช้ในการสื่อสาร ขณะที่ศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชาตินั้นถือเป็นเครื่องมือสื่อสารทรงพลังอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเข้าใจเรื่องราวระหว่างผู้คนต่างชาติ ต่างภาษา งานสถาปนิก’67 ในปีนี้ เป็นการนำเสนอถึงอัตลักษณ์ของการสื่อสารด้วยภาษาที่ไร้ขอบเขตของสถาปนิกและนักออกแบบ เน้นย้ำถึงความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่สัมผัสได้โดยผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก

คำว่า “สัมผัส สถาปัตย์” คือตรงๆ และง่ายมาก การที่บางคนที่ไม่มีแบล็คกราวน์เกี่ยวกับงาน เกี่ยวข้องกับสถาปนิก เมื่อได้ยินคำว่าสัมผัส สถาปัตย์ ก็คือมาที่นี่ คุณจะได้สัมผัสสถาปัตย์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลที่เราพยายามสอดแทรกเข้าไปในเชิงของการปฏิบัติงานในเชิงวิชาชีพ การเรียนการสอนของนักศึกษานิสิตเอง ซึ่งก็จะอยู่ในกิจกรรมนิทรรศการต่างๆ เวิร์คช็อปต่างๆ ที่คนทั่วไปที่สนใจก็สามารถเข้ามาชมได้ และที่เราจะเน้นเป็นพิเศษก็คืออย่างนิทรรศการในหลายๆ บูธ เราอยากให้คนทั่วไปเข้าไปแล้วรู้เรื่องคือเข้ามาจะรับรู้ในเชิงนิทรรศการอันหนึ่งที่เขาเองสนใจ แล้วได้ข้อมูลในเชิงที่ไม่ได้ลงลึกแต่ว่าก็ได้รับรู้ข้อมูลด้วย ในขณะเดียวกันถ้าเป็นสถาปนิกที่มางานก็สามารถได้ข้อมูลแบบเจาะลึกลงไปเหมือนกัน

 

เชื่อว่ามางานนี้เหมือนเป็นการเปิดโลก แล้วจะเปิดมุมมองทุกท่าน เพราะไม่เป็นแค่การมาดูการแสดงผลงานสถาปัตยกรรมในไทยอย่างเดียวเท่านั้น ปีนี้เราต้องการความเป็นโกลบอลในระดับต่างประเทศมากขึ้น คือเหมือนได้มาเที่ยว ถึง 20 ประเทศ ในกลุ่มประเทศสมาชิกของสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย (Arcasia) หรือก็คือมางานนี้จะสามารถรับรู้ข้อมูลสถาปัตยกรรมแต่ละพื้นที่ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็จัดว่าเป็นไฮไลต์สำคัญที่จะทำให้ประชาชนผู้มางานได้เห็นภาพสถาปัตยกรรมต่างๆ

 

ชุตยาเวศ : ขอขยายความแนวคิด สัมผัส สถาปัตย์ จริงๆ เราทุกคน ใช้ชีวิตอยู่กับสถาปัตยกรรมมาตลอด ทุกคืนก็อยู่ในสถาปัตยกรรม ก่อนนอนก็อยู่ในสถาปัตยกรรม แม้กระทั้งการลาครั้งสุดท้ายของชีวิตเราก็ยังอยู่กับสถาปัตยกรรม จริงๆ แล้วเราไม่สามารถหนีสถาปัตยกรรมได้เลย แม้กระทั่งเราไปอยู่ในป่า เรากางเต็นท์ เราสร้างแบบง่ายๆ อยู่ก็ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมเป็นสเปซหมด ดังนั้น อยากให้ทุกคนมาดูว่าจริงๆ แล้วสถาปัตยกรรมมันมีผลกับชีวิตของเราในช่วงเวลาต่างๆ ได้อย่างไร และความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยตรงมีอะไรบ้าง ในงานมีความหลากหลายที่จะพูดถึงเรื่องคุณค่า งานอนุรักษ์ แต่ละคนสามารถที่จะมา สัมผัส ในมุมของตัวเองและเอาความรู้เป็นมุมที่ตัวเองสนใจกลับไปได้ เราอยากจะนำเสนอให้หลากหลายให้พอที่ทุกคนเข้ามาชมและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ผนึก 5 สมาคมฯ เชื่อมโยงสถาปนิกเสริมความสมบูรณ์แบบ

 

กุลธิดา : สำหรับการจัดงานสถาปนิก’67 ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง 5 องค์กรวิชาชีพสถาปนิก ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากร แห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก จากปีที่แล้ว พอมีงานด้านนี้แล้วมีสมาคมอื่นๆ เข้ามาด้วย ทำให้ครบสมบูรณ์แบบ ทำให้เห็นภาพรวมสถาปนิกไม่ได้ทำงานเดี่ยวๆ สถาปนิกต้องทำงานกับเฟอร์นิเจอร์ ทำงานกับภูมิสถาปนิก ทำรวมกับเรื่องผังเมือง คนจะได้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกันหมด

ชุตยาเวศ : ในส่วนของการสร้างการรับรู้การทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ณ ปัจจุบันใช้ Tool ในการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดก็คงจะเป็นโซเชียลมีเดียเป็นอันดับหนึ่ง และอันที่สอง ที่สำคัญมากก็คือผ่านทางสมาคมพันธมิตรทั้ง 21 ชาติที่เป็นพาร์ทเนอร์ด้วย ซึ่งเขาก็มีข้อมูลของกลุ่มลูกค้าและก็สมาชิกของเขาเอง ฉะนั้นจึงเป็นการกระจายข่าวที่ง่ายที่สุดและตรงที่สุด สำหรับเราก็คือการกระจายข่าวไปยังสมาคมสถาปนิกต่างๆ ทั้ง 21 ชาติ และยังไม่นับประเทศอื่นๆ อีกเราส่งข่าวไปยังอินเตอร์เนชั่นแนล ยูเนี่ยน อาคิเทค ซึ่งก็ใหญ่มีสมาชิกทั่วโลก เราใช้สื่อและพาร์ทเนอร์ชิพต่างๆ เพราะว่าการทำงานสถาปนิกไม่ได้ทำงานคนเดียว สถาปนิกก็คือทำงานเป็นทีมอยู่แล้วด้วย กลุ่มสถาปนิก กลุ่มวิศกร แล้วเรามีพาร์ทเนอร์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนลด้วย

พบกับไฮไลต์ทั้งในภาควิชาการและผลงานสถาปนิกจากไทยและต่างประเทศ

 

กุลธิดา : ในงานจัดแสดงนิทรรศการหลัก ตามธีม “Collective Language” เรามีทีมที่เป็นภัณฑารักษ์ในการค้นหาผลงานของสถาปนิกต่างชาติ ในภูมิภาคเอเชีย และคัดเลือกมานำเสนอเป็นภาษากลางที่มีการใช้ภาษาร่วมกัน ซึ่งอันนี้จะกลายเป็นเหมือนคลังความรู้ให้สถาปนิกไทยเองหรือสถาปนิกต่างชาติที่มางานได้เรียนรู้ไปด้วยกัน คำว่าภาษากลางระหว่างภูมิภาค ซึ่งมาจากคนละประเทศ ก็มีภาษาที่ใช้ร่วมกันได้อยู่ในนิทรรศการนี้ ในขณะเดียวกันก็มีนิทรรศการจากต่างประเทศมาร่วมจัดด้วยกันถึง 22 ชาติ ในงานนี้ เช่น สถาปนิกไทยจะได้เห็นว่าที่บังคลาเทศสถาปัตยกรรมเขาเป็นยังไง ที่ภูฏานมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยังไง และจะเป็นการเปิดโลกให้กับคนทั่วไปได้เห็นด้วยเช่นกัน

 

ชุตยาเวศ : ในงานนี้ถือเป็นการตอบโจทย์กับทุกคน ตั้งแต่เด็กเลย เรามีเวิร์กช็อปสำหรับเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ปีนี้ก็จะมีการเชิญคนที่เป็นผู้ใหญ่ที่สำคัญปูชนียบุคคล กลุ่มคนที่มีความสำคัญเป็นอาจารย์ของอาจารย์ มาให้ความรู้กับสถาปนิกรุ่นหลังด้วย มาพูดคุยแนะรุ่นน้อง เราพยายามที่จะบอกว่า ไม่ว่าคุณอยู่ในเลเวลไหน อายุเท่าไหร่ มีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมแค่ไหน คุณสามารถเข้ามาสัมผัส และก็ได้ความรู้กลับไปแน่นอน สิ่งที่สำคัญที่สุดของเราก็คือว่า ผมเชื่อว่าเด็กและผู้ใหญ่เป็นสองรุ่นที่จริงๆ แล้ว หลักๆ อยู่ในอุตสาหกรรมของสถาปัตยกรรม เขาเป็นคนทดลองแบบบ้าน พ่อแม่ก็จะออกแบบบ้านเพื่อลูก เพื่อผู้ใหญ่ในบ้าน ซึ่งสังคมที่กำลังจะเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้น ฉะนั้นการออกแบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องเมือง การตกแต่ง รวมถึงทางภูมิสถาปัตยกรรม แล้วก็มาจนถึงงานสถาปัตยกรรม เป็นการนำเสนอแบบเปิดครอบคลุมกับทุกชีวิต ทุกช่วงวัย ในทุกเวลา

คาดหวังผลสำเร็จของการจัดงานสถาปนิก’67

 

ชุตยาเวศ : สำหรับผลสำเร็จของการจัดงานในแง่จำนวนคนเข้าชมงานจริงๆ ไม่ค่อยห่วง เพราะงานนี้เป็นหนึ่งในงานใหญ่ที่สุด เราไม่แข่งกับมอเตอร์โชว์ แต่ก็เป็นหนึ่งงานที่ทำให้เกิดปัญหา แม้จะมองว่าซอร์ฟในเรื่องรถติดบ้าง ก็วัดได้ว่ามีคนสนใจมางานเยอะจริงๆ และเราสนใจที่ว่างานนี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่จะเปิดตัวสถาปนิกไทยได้อย่างไร งานสถาปนิกมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นอีกเวทีระดับโลก เทียบเท่ากับงานดีไซน์ต่างๆ ที่เราจะใช้เป็นเวทีที่เปิดตัวสถาปนิกไทยจริงๆ ให้สามารถเป็นที่รู้จักและโชว์ผลงานในระดับโลกได้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้งานนี้เป็นแพลตฟอร์มโชว์ความเป็นเมืองไทย มี Bangkok Design Week เป็นงานระดับโลก เช่น ที่มีในโลก หากพูดถึงเวนิส เวียนนา เมืองของสถาปัตยกรรม ถ้าเราสามารถมองเห็นงานนี้ให้เป็นแพลตฟอร์มระดับสูง ที่มีคุณภาพได้จริง และเป็นที่รู้จักในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลที่เป็นแพลตฟอร์มสถาปนิก เชื่อว่างานสถาปนิกในปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปถึงระดับนั้นได้

กุลธิดา: สิ่งที่คาดหวังคืออยากให้คนที่มางานมองคำว่าเอ็กซ์โปเปลี่ยนไป สิ่งที่จะเห็นในงานในงานสถาปนิก’67 จะไม่ใช่ภาพลักษณ์แบบเดิม แต่จะเป็นเหมือนที่ที่ทุกคนเข้ามาก็จะตื่นตา สามารถจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน การจัดหา การดูงานได้ง่ายๆ เหมือนกับมีจุดหมายที่ชัดเจน รู้ว่าจะต้องไปที่ไหน ให้เห็นว่าภาพรวมของงานที่ชัดเจนมันคืออะไร เรียกว่ามาที่นี่ก็คือได้รู้ ได้เห็นครบจบในที่เดียว

Leave A Reply

Your email address will not be published.