กรมบังคับคดีเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชน
กรมบังคับคดีเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนและการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตามแนวทางระบบราชการ 4.0 ของกรมบังคับคดี ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖4 พบมีค่าเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.10
นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัครนัย ขวัญอยู่ หัวหน้าโครงการวิจัย และอาจารย์วิชาญ กิตติรัตนพันธ์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนและการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตามแนวทางระบบราชการ 4.0 ของกรมบังคับคดี ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖4 โดยผลจากการสำรวจพบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวมมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว จากค่าเฉลี่ย ๙.๐๒ คะแนน เป็นค่าเฉลี่ย ๙.๑๐ คะแนน และมีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวมสูงขึ้นเช่นกัน จากค่าเฉลี่ย ๘.๖๘ คะแนน เป็นค่าเฉลี่ย ๙.๒๓ คะแนน
นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี แถลงว่า กรมบังคับคดี
มีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบการทำงานและการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้น ถึงการปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปฏิบัติงานเพื่อประชาชนและพร้อมพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนอย่างแท้จริง จึงมีการจัดทำโครงการ “สำรวจความเชื่อมั่นของประชาชน และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตามแนวทางระบบราชการ 4.0 ของกรมบังคับคดี ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔” โดยมีวัตถุประสงค์ ๖ ข้อ คือ (๑) เพื่อประเมินคุณภาพการให้บริการตามกระบวนการบังคับคดี ให้มีมาตรฐานการบริการเป็นมาตรฐานเดียวกัน จากการสำรวจทำให้ทราบถึงการรับรู้และความเข้าใจของประชาชน ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบังคับคดี โดยเปรียบเทียบผลการศึกษาวิจัยของปีที่ผ่านมากับปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ (๒) เพื่อให้ทราบถึงความเชื่อมั่น ของประชาชนผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน (๓) เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แนวทางในการปรับปรุง และพัฒนางานด้านกระบวนการบังคับคดี (๔) เพื่อให้ทราบถึงความคิดเห็นการออกแบบระบบงาน และกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ขององค์กร ความต้องการของผู้รับบริการ ข้อกฎหมายต่าง ๆ ทั้งกระบวนการทำงานหลัก และกระบวนการทำงานสนับสนุน (๕) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนตามแนวทางระบบราชการ 4.0 และ (๖) เพื่อเป็นการขับเคลื่อน ตามยุทธศาสตร์ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙) ของกรมบังคับคดี สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐)
ดังนั้น การนำความเห็นจากผู้รับบริการผู้มีส่วนได้เสียมาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพของงานราชการและบริการประชาชน เพื่อเป็นการสนับสนุนการปรับปรุงการให้บริการโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง จึงให้มีการสำรวจวิจัย “โครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนและการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตามแนวทางระบบราชการ 4.0 ของกรมบังคับคดี ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖4 โดยมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการตามโครงการนี้ เพื่อให้การสำรวจมีความเป็นมาตรฐาน น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติ ในการสำรวจจึงต้องมีผู้ประเมินอิสระจากหน่วยงานภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ โดยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี จากกลุ่มประชากรเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 2,746 รายทั่วประเทศ โดยการสำรวจครั้งนี้ใช้วิธีการดำเนินการเก็บข้อมูล 3 ส่วน คือ การสำรวจแบบตัวต่อตัว (Face-to-face Interview) หรือการโทรศัพท์สัมภาษณ์ (Telephone Survey) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) โดยสรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้
ความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี
ค่าเฉลี่ย ๙.๑๐ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวม
ค่าเฉลี่ย ๙.๐๘ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีแพ่ง
ค่าเฉลี่ย ๘.๖๖ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีล้มละลาย
ค่าเฉลี่ย ๘.๔๘ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ค่าเฉลี่ย ๘.๘๕ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี
ค่าเฉลี่ย ๘.๕๑ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
ค่าเฉลี่ย ๙.๑๑ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด
ค่าเฉลี่ย ๘.๙๐ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการวางทรัพย์
ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการต่อกระบวนการบังคับคดี
ค่าเฉลี่ย ๙.๒๓ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวม
ค่าเฉลี่ย ๙.๑๓ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีแพ่ง
ค่าเฉลี่ย ๘.๘๓ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีล้มละลาย
ค่าเฉลี่ย ๙.๐๒ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ค่าเฉลี่ย ๙.๒๑ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี
ค่าเฉลี่ย ๙.๐๔ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
ค่าเฉลี่ย ๙.๐๖ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด
ค่าเฉลี่ย ๘.๙๗ มีความพึงพอใจต่อกระบวนการวางทรัพย์
ทั้งนี้ กรมบังคับคดีจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความพึงพอใจให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต่อไป