ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ระยะที่ 2 สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน
กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ประกาศความสำเร็จ “ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ระหว่างเมษายน-มิถุนายน 2563 จากครัวเรือนเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 12,977,039 ล้านครัวเรือน เพียง 90 วัน มีประชาชนทั่วประเทศร่วมปลูกผักสวนครัวถึง 12,601,491 ครัวเรือน คิดเป็น 97.11% โดยมี 18 จังหวัดจากทุกภาค ปลูกครบ 100% ได้แก่ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ตาก อุบลราชธานี พัทลุง สุโขทัย อุดรธานี สุราษฎร์ธานี สกลนคร ชัยภูมิ ตราด บึงกาฬ เพชรบุรี มุกดาหาร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ นครพนม และภูเก็ต
แนวทางการขับเคลื่อนเน้นการปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก มีพืชผักปลอดภัย ประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน โดยหากคนไทย 12 ล้านครัวเรือน ประหยัดเงินจากการซื้อผักวันละ 50 บาท กว่า 600 ล้านบาท/วัน 18,000 ล้านบาท/เดือน รวมแล้วประหยัดได้กว่า 200,000 ล้านบาท/ปี
หลังประกาศความสำเร็จ ปลูกผักสวนครัว ระยะที่ 1 เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีพี่น้องประชาชนกว่า 12.6 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศร่วมขับเคลื่อน กรมการพัฒนาชุมชนจึงเดินหน้าขับเคลื่อนต่อเนื่อง ระยะที่ 2 ระหว่าง 1 กรกฎาคม – 5 ธันวาคม 2563 เพื่อเป้าหมาย 5 ประการสำคัญ ได้แก่ “ความต่อเนื่องคือพลัง” ส่งเสริมการปลูกพืชผักอย่างต่อเนื่อง และปลูกเพิ่มเติมรวม 10 ชนิด “ทำเป็นบ้าน สานเป็นกลุ่ม” ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มปลูกพืชผักประจำครัวเรือน เพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่มในอนาคต “ชุมชนสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อมและสร้างชุมชนสีเขียว “จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม” ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผักอาหารรักษ์สุขภาพ และ “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง” เกิดชุมชนเกื้อกูล สามารถดูแล ช่วยเหลือ และแบ่งปัน จัดตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์หรือต่อยอดในรูปแบบอื่นๆ
การขับเคลื่อนครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริงในทุกชุมชนทั่วประเทศ ทำให้พี่น้องประชาชนมีพืชผักปลอดภัยไว้กินเองและแบ่งปัน รวมถึงขยายผลต่อยอดสร้างรายได้ และสิ่งสำคัญคือ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในประเทศไทยของเรา