DITP เดินหน้าลุยขับเคลื่อนเต็มสูบ ดันส่งออกปีนี้โต 1-2%

490

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กางแผนผลักดันการส่งออกปี 66 ให้เติบโตตามเป้าหมาย 1-2% มูลค่า 10-10.1 ล้านล้านบาท เตรียมเดินหน้ากว่า 450 กิจกรรม มุ่งขยายตลาดเดิม เจาะ 4 ตลาดศักยภาพ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน และเพิ่มตลาดใหม่ เอเชียกลาง นอร์ดิก

THAIFEX HOREC Asia 2024
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมกันประเมินอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2566 ไว้ที่ 1-2% คิดเป็นมูลค่า 10 – 10.1 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 หลังจากยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ การเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ตลอดจนค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และข้อกังวลเรื่อง Food Security ของประเทศต่างๆ ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย

 

นายภูสิตกล่าวถึงไฮไลท์ของการทำงานในปีนี้ ซึ่งได้หารือร่วมกันกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยกรมจะเร่งรัดจัดกิจกรรมใน 4 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน โดยจะจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้าไทย คณะผู้แทนการค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผลักดันค้าขายออนไลน์ โดยกำหนดเป้าหมาย ดังนี้

  • ตะวันออกกลาง (ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิรัก) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่า 20%
  • CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าเพิ่ม 15%
  • เอเชียใต้ (อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล มัลดีฟส์ และภูฏาน) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่า 10%
  • จีน ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่า 1% โดยจะปูพรมเพิ่มจำนวนกิจกรรมกระจายในเมืองรองมากขึ้น หลังจากที่จีนเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

 

นอกจากนี้ ยังได้เผยแผนเจาะตลาดศักยภาพใหม่ๆ ในเอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน โดยนำร่องจัดกิจกรรมกับคาซัคสถานซึ่งมีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุดในภูมิภาคดังกล่าว และเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าในเอเชียกลาง โดยจะจัดการสัมมนาเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อต่อยอดสู่การจัดกิจกรรมเจรจาการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต่อไป

 

72990

ตลาดใหม่ที่น่าสนใจอีกแห่ง คือ ตลาดนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังซื้อสูง และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไทยไปสู่สหภาพยุโรป โดยจัดคณะผู้แทนการค้า การจัดกิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อาหาร เกษตรอินทรีย์ และ สินค้า BCG เป็นต้น และจัดกิจกรรม In-Store Promotion ร่วมกับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ

สำหรับการขยายการค้าบนแพลทฟอร์มออนไลน์ กรมตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้าน TOPTHAI (ร้านค้าออนไลน์ของกรมบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ชั้นนำ) ไปยัง Amazon Global Selling Thailand (สหรัฐฯ), eBay (สหรัฐฯ/ออสเตรเลีย), Lazada (มาเลเซีย/สิงคโปร์/ฟิลิปปินส์/เวียดนาม), AbouThai (ฮ่องกง/จีน), และ Pinkoi (ไต้หวัน/เกาหลี/ญี่ปุ่น) ซึ่งปัจจุบัน มีร้านบน 7 แพลตฟอร์ม ครอบคลุม 9 ประเทศ คือ Amazon (สหรัฐฯ), Tmall ในเครือ Alibaba Group (จีน), Bigbasket (อินเดีย), Klangthai (กัมพูชา), Blibli (อินโดนีเซีย), PChome (ไต้หวัน) และ Shopee (มาเลเซีย/สิงคโปร์/ฟิลิปปินส์) ปัจจุบัน มีแบรนด์สินค้าที่เข้าร่วมในร้านกว่า 200 แบรนด์

ในส่วนของการมุ่งเน้นรักษาตลาดเดิม (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น) จะส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกด้วยนวัตกรรม และการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างแบรนด์ ส่งเสริมการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการค้าระหว่างประเทศรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ และส่งเสริมธุรกิจบริการ โดยใช้ Soft Power เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพและความงาม โลจิสติกส์ และร้านอาหาร Thai Select

 

​สินค้าเป้าหมายที่จะผลักดัน ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแห่งอนาคต (future food) ซึ่งสามารถตอบโจทย์ ทั้งปัญหาความมั่นคงทางอาหาร กระแสรักสุขภาพ และเทรนด์รักสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย อาหารไทยอาหารโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้า BCG (กลุ่มไลฟ์สไตล์และแฟชั่น บรรจุภัณฑ์ สุขภาพและความงาม) เพื่อรับมือกับเงื่อนไขการค้าโลกที่มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว สินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ในปี 2566 กรมเดินหน้าจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทย หลังโควิดคลี่คลายอย่างเต็มรูปแบบ 5 งาน คือ

  • STYLE Bangkok ( 22 – 26 มีนาคม 2566)
  • TAPA ( 5 – 8 เมษายน 2566)
  • THAIFEX-ANUGA ASIA (23 -27 พฤษภาคม 2566) ,
  • TILOG–LogistiX (17 – 19 สิงหาคม 2566) 
  • Bangkok Gems & Jewelry Fair (6 – 10 กันยายน 2566)

โดยตั้งเป้าประมาณการมูลค่าเจรจาการค้ามากกว่า 16,700 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับปี 2567 กรมร่วมกับโคโลญจ์เมสเซ่ ได้ริเริ่มที่จะจัดงานแสดงสินค้าสำหรับกลุ่ม HORECA โดยเฉพาะเป็นครั้งแรกในภูมิภาค โดยจะใช้ชื่อว่า THAIFEX HOREC Asia 2024

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

Leave A Reply

Your email address will not be published.