ทส. ผนึก GIZ ชูความสำเร็จพัฒนานโยบายไทย สู้ Climate Change พร้อมขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ

438

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (สผ.) จัดกิจกรรม “Glocal Climate Change: Act Locally, Change Globally” ประกาศความ สำเร็จความร่วมมือการดำเนินงานด้านนโยบาย ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy)

.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีปิดโครงการและกิจกรรมสร้างความตระหนักแก่ภาคสาธารณะโครงการการดำเนินงานด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy)

.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

.

72990

นายจตุพร  กล่าวว่า การวิเคราะห์ความเหมาะสมในการนำโมเดลของจังหวัดนำร่องในโครงการฯ ไปขยายผลในทุกจังหวัดของไทยมีความสำคัญอย่างมาก  ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  จะประสานการทำงานในเรื่องนี้กับกระทรวงมหาดไทยต่อไป โดย ทส. ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)

ภายใต้แผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศสากล (International Climate Initiative: IKI) ในโครงการดำเนินงานด้านนโยบายภายใต้แผนงาน ความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ด้านความร่วมมือ (พลังงาน การจัดการขยะ การเกษตร การจัดการน้ำ และการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบาย) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) วงเงินรวม 650 ล้านบาท โดยมีสำนักงานนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (สผ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นหน่วยดำเนินงานหลัก

โครงการ TGCP-Policy ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ การยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด การยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำแนวทางควบคุมคุณภาพข้อมูลกิจกรรมสำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการขับเคลื่อนประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม

.

นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ของเยอรมัน (GIZ)

.

ด้าน นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่ได้ประกาศเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ท้าทาย ซึ่งสร้างความชัดเจนเชิงนโยบาย และเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่จะยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายไปสูาการปฏิบัติในระยะต่อจากนี้ องค์กร GIZ ยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนประเทศไทยในหลายภาคส่วนให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ พร้อมกันนี้ได้แสดงความยินดีต่อ ทส กับความสำเร็จในการจัดงาน Thailand Climate Action Conference (TCAC) เมื่อวันที่ 5-6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ทส มีความพร้อมและความก้าวหน้าในการสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

.

ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย  นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบโล่เกียรติคุณให้แก่ 10 จังหวัดนำร่องที่บูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแผนพัฒนาจังหวัด ได้แก่ ยโสธร มหาสารคาม ตาก สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ชุมพร ระนอง และกรุงเทพมหานคร

.

นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

.

และได้รับเกียรติจาก นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาแสดงบทบาทและบริบทของกระทรวงมหาดไทยที่จะร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดการภัยพิบัติและการดูแลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ กิจกรรม Climate Action Talk: “From Science to Policy to Action on the Ground” จากเหล่ากูรูด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รศ.ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์  จาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ผู้ประกอบการเรือไฟฟ้าเช่าเหมาลำ “สุขสำราญ” และ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว 

.

รศ.ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

.

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Movie & Talk ฉายภาพยนตร์เรื่อง ““Breaking boundaries” โดยมี “ยอด-บอล” จากรายการ “หนังพาไป” พร้อมด้วย ดร.เพชร มโนปวิตร จากมูลนิธิโลกสีเขียว รวมพูดคุย ต่อด้วยกิจกรรม Youth Climate Ready Workshop

.

.

ซึ่งได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 40 คน โดยในกิจกรรมได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาออกแบบการสื่อสารเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน Climate Change ในกลุ่มเยาวชนต่อไป และยังมีส่วนนิทรรศการแสดงผลการดำเนินการโครงการฯ รวมถึงกิจกรรมร่วมแบ่งปันไอเดียจากผู้เข้าร่วมงานและผ่านช่องทางออนไลน์ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกที่จะรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อโลกร่วมกัน

.

.

ทั้งนี้ ต่อเนื่องจากโครงการ TGCP-Policy ทส. ยังได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในการดำเนินโครงการ Climate, Coastal, and Marine Biodiversity (CCMB) ซึ่งมี สผ. และ GIZ เป็นหน่วยงานดำเนินงานหลัก โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) วงเงินประมาณ 360 ล้านบาท เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 และขยายขอบเขตการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการสนับสนุนโครงการอื่น ๆ ด้านพลังงานและขนส่ง และการรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เมือง อีกประมาณ 1,290 ล้านบาท

.

.

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีถือเป็นต้นแบบที่ดีในการตั้งเป้าหมายและขับเคลื่อนการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง อีกทั้งยังคงให้การสนับสนุนด้านการเงิน องค์ความรู้ และเทคนิควิชาการ กับประเทศกำลังพัฒนาตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ตามความตกลงปารีสมาโดยตลอด รวมถึงประเทศไทยที่ได้รับความร่วมมือในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตลอดระยะเวลา 13 ปี ทั้งในสาขาพลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม น้ำ เกษตร การท่องเที่ยว และของเสีย วงเงินกว่า 3,810 ล้านบาท ทั้งนี้ ทส. จะได้ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในรูปแบบความร่วมมือทวิภาคีและพหุพาคี เพื่อการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยต่อไป

Leave A Reply

Your email address will not be published.