ทำความรู้จัก “ไข้หวัดใหญ่” ญาติห่างๆ ของโควิด-19 และ “วัคซีนชนิดเชื้อตาย” ที่มาก่อนกาล

533

รายงาน

 หลังจากเฝ้ารอกันมาเกือบ 4 เดือน ในที่สุดประเทศไทยก็ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกจนได้ ขยับตัวตามประชาคมโลกไปห่างๆ พร้อมสร้างความหวังเล็กๆ ในการฟื้นคืนชีวิตปกติสุขกลับมา

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น (ที่ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีแน่นอน) อย่าลืมว่าระบบทางเดินหายใจของเรา ไม่ได้กำลังต่อสู้กับโคโรน่าไวรัสเพียงอย่างเดียว ในเมื่อช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวของทุกปี ถือเป็นเวลาทองที่ญาติห่างๆ ของโควิดอย่าง ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) หรือ AKA “ไข้หวัดใหญ่” จะใช้โอกาสนี้เล่นงานทางเดินหายใจให้เราไข้ขึ้น อ่อนเพลีย ปวดหัวซ้ำๆ อยู่ทุกปี

โชคดีที่อย่างน้อย เจ้าไข้หวัดใหญ่นี้ คืออาการป่วยที่อยู่คู่ประชาคมโลกมาอย่างยาวนาน อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ก็รู้จักมักจี่กับครอบครัวของมันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับบ้านสำคัญที่สมควรถูกเฝ้าระวังอย่างจริงจัง อย่างสายพันธุ์ influenza A และ influenza B

มากไปกว่านั้น ไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 บ้าน ยังมีตระกูลกิ่งก้านสาขาแตกหน่อไปอีกสายพันธุ์ย่อยละ 2 รวมเป็น 4 ชนิด คือ H1N1, H3N2 จากบ้าน influenza A จัดเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงของการระบาดสูง สามารถแพร่กระจายไปกว้างขวางทั่วโลก ที่คุ้นๆ กันในโรคต่างๆ เช่น ไข้หวัดสุกร, ไข้หวัดนก, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และตระกูล Victoria, Yamagata จากบ้าน influenza B กลุ่มที่พบได้แค่ในคน แพร่ระบาดได้ดีในสภาพแวดล้อมเย็นและแห้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว

72990

ฟังๆ ดูแล้ว ไวรัสไข้หวัดใหญ่เหมือนจะมีอันตรายมากกว่าที่เราเคยรู้จักกัน เพราะด้วยสารพัดสมาชิกในวงศาคณาญาติ ความหลากหลายของอาการ ลักษณะวิธีการติดต่อ ไหนจะโอกาสกลายพันธุ์ที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นตอนไหนอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างที่บอกไปแลวว่าทั้งโลกรู้จักคุ้นหน้าค่าตามันเป็นอย่างดี และยังได้พัฒนา “วัคซีนชนิดเชื้อตาย” ที่ใช้จัดการไข้หวัดใหญ่ อย่างแพร่หลายนานกว่า 60 ปีแล้วด้วย

แพทย์หญิง มัณฑนา สันดุษฎี อายุรแพทย์ด้านโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต            โรงพยาบาลพระรามเก้า เผยว่า “วัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย มีทั้งแบบป้องกันได้ 3 สายพันธุ์ (2 ชนิดใน influenza A และ 1 ชนิดใน influenza B) สำหรับเน้นการป้องกันสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุด และแบบ 4 สายพันธุ์ (2 ชนิดใน influenza A และ 2 ชนิดใน influenza B) ที่ถือเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันได้ครอบคลุม และช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดได้ดี”

“ปกติแล้ว สาธารณสุขจะรณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี แต่สำหรับปี 2564 นี้ เพื่อไม่ให้สับสนกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อลดโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อน จึงได้มีแนวทางเลื่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้เร็วขึ้นเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม

ที่นี้เราคงเคยได้ยินกันผ่านๆ หูว่า วัคซีนโควิดส่วนใหญ่แทบทุกเจ้า ล้วนมีข้อกำหนดที่เหมือนๆ กัน โดยเฉพาะความถี่ที่ต้องฉีดถึง 2 เข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และอาจรวมไปถึงข้อกำหนดอื่นๆ สำหรับตัวผู้รับวัคซีนเอง ถ้าอย่างนั้น เราลองย้อนมาดูวัคซีนรุ่นคุณปู่อย่าง “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” บ้างดีกว่า ว่าก่อนจะเข้ารับภูมิคุ้มกันจากเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เราต้องรู้อะไรก่อนบ้าง?

“คนทั่วไป ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 เข็ม” แพทย์หญิง มัณฑนา ให้ข้อมูล “โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้น และสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ขวบที่ได้รับวัคซีนครั้งแรก ให้ฉีด 2 เข็มในปีแรกก่อน โดยเว้นระยะห่างการฉีดครั้งละ 1 เดือน แต่หากปีแรกได้ฉีดเพียงครั้งเดียว ให้ฉีด 2 ครั้งในปีถัดมา แล้วหลังจากนั้นค่อยฉีดปีละครั้งก็ได้”

ดังนั้นแล้วจึงบอกได้เลยว่า ทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนหนุ่มคนสาว หรือคนเฒ่าคนแก่ ต่างก็สมควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กันทั้งนั้น หรือถ้าจะให้เล่าลึกลงไป แพทย์หญิง มัณฑนายังแนะนำถึงคน 7 กลุ่มเสี่ยง ที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างยิ่ง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน, เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 2 ปี), ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด), ผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้, ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ และผู้ที่เป็นโรคอ้วน ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. และคำนวณค่า BMI ได้มากกว่า 35

“โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีสายพันธุ์ย่อยเยอะมาก-กลายพันธุ์ได้ง่าย อีกทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะอยู่ที่ 70-90% (ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัส) องค์การอนามัยโรค (WHO) จึงแนะนำถึงความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนทุกปี เพื่อทำการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายพร้อมรับมือกับเชื้อที่จะเข้ามา แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการได้รับวัคซีนอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เราปลอดภัยจากไข้หวัดใหญ่ 100% เพราะเราต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันไข้หวัดใหญ่ควบคู่กันไปด้วย” แพทย์หญิง มัณฑนา กล่าว

“นั่นคือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ ใช้เจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก”

ที่ดูๆ แล้ว ก็ไม่ต่างกับสิ่งที่คนไทยทำมาตลอด 2 ปีให้หลังนี้เลย เพราะฉะนั้นสรุปง่ายๆ เพียงแค่เราเดินเข้าไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลพระรามเก้า + ทำตัวเหมือนปกติ (แบบ New Normal) แค่นี้เราก็ห่างไกลจากไข้หวัดใหญ่ แถมไม่ต้องเสี่ยงป่วยจนพะว้าพะวังกับการรับวัคซีนโควิด-19 (ในเร็วๆ นี้) อีกด้วย…

 

Leave A Reply

Your email address will not be published.