‘ฉีดวัคซีน’ โอกาสฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว ชี้ท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 พลิกโฉมสู่ความยั่งยืน-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ภายในงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “สถานการณ์ท่องเที่ยวและการโรงแรมในภูมิภาคอาเซียนและเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต” จัดโดยสมาคมโรงแรมและร้านอาหารแห่งอาเซียน สมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้จัดงาน “ฟู้ดแอนด์โฮเทล ไทยแลนด์” เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ตัวแทนจากธุรกิจโรงแรมจากประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างแสดงความห่วงใยต่อสถาน การณ์การฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่อาจชะลอการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโรงแรม-การท่องเที่ยว แต่เชื่อมั่น บริบทการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 จะพลิกโฉมสู่ความยั่งยืน-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นางกวี เว่ยหลิน (Kwee Wei-Lin) นายกสมาคมโรงแรมสิงค์โปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์เลือกนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ภายใต้แนวคิดการให้บริการแบบไร้สัมผัส (Contactless Service) เพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพพนักงานและนักท่องเที่ยว โดยมีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลช่วยบรรเทาความสาหัสจากพิษโควิด-19 อาทิ การสนับสนุนภาคเอกชนในการจ่าย 75% ของเงินเดือนพนักงานที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมได้รับผลกระแทบอย่างหนัก
างกวีกล่าวอีกว่า รัฐบาลสิงคโปร์ยังเร่งฉีดวัคซีนให้คนที่ทำงานในธุรกิจการท่องเที่ยวก่อน เนื่องจากเป็นด่านหน้าทางด้านการท่องเที่ยว หากมีการเปิดประเทศในวันข้างหน้า “รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพนักงานโรงแรม ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา วันนี้ บุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมได้รับวัคซีนเกือบครบทุกคนแล้ว”
แม้อัตราการฉีดวัคซีนของประเทศสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน 37% ของประชากรสิงคโปร์ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์กำหนด ผนวกกับความตั้งใจของทางการสิงคโปร์ที่ต้องการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 75% หรือ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ภายในวันชาติสิงคโปร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 9 สิงหาคม แต่ในสายตาของกวี การจัดทำ Travel Bubble หรือ Travel Corridor เพื่อส่งเสริมการเปิดประเทศท่องเที่ยวแบบจับคู่ระหว่างประเทศอาเซียนยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศใกล้เคียงยังอยู่ในเกณฑ์น่ากังวล
ในขณะที่นายลิม ชุงเซียน (LIM Choong Sean) รองนายกสมาคมโรงแรมมาเลเซียเผยถึงแผนของทางการที่ตั้งเป้าเปิด ‘เกาะลังกาวี’ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรก เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วในเดือนกันยายนปีนี้ พร้อมเสนอแนะให้ทางการมาเลเซียวางแผนด้านการตลาด ควบคู่ไปกับแผนกระจายวัคซีนและเปิดประเทศ
“จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี พ.ศ.2563 ลดลงกว่า 83% เมื่อเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี พ.ศ.2562ภาครัฐต้องลดความซับซ้อนของกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง และจำเป็นต้องมีโปรโมชันหรือแคมเปญ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้การเปิดสถานที่ท่องเที่ยวเสียเปล่า” ลิม กล่าว
ทางการมาเลเซียได้ประกาศตั้งเป้าฉีดวัคซีนแก่ประชาชนให้ได้อย่างน้อย 60% ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ และครอบคลุม 80% หรือประมาณ 26 ล้านคนของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมปีนี้ โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนชาวมาเลเซียได้รับวัคซีนโควิด-19 โดสแรกแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 12% ของประชากรทั้งหมด
“การเดินทางระหว่างประเทศน่าจะกลับมาเต็มรูปแบบได้อีกครั้งภายในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ.2565 หรือเร็วที่สุดคือไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อาจมีเมืองท่องเที่ยวเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนนำร่องไปก่อน อย่างกรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล แสดงความคิดเห็น
นางมาริสา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรให้เร็วที่สุด ไม่เพียงแต่จะทำให้นักท่องเที่ยวกล้าเดินทาง และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ยังเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะ SMEs ฝ่าวิกฤตโรคระบาดนี้ไปได้
ในขณะเดียวกัน นางมาริสามองว่า บริบทการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 จะมีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมเสนอให้รัฐบาลไทยใช้โอกาสนี้ แสดงศักยภาพผู้นำด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานความปลอดภัยของสาธารณสุข โดยเน้นให้เข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA)
“เมืองไทยมีศักยภาพในการขึ้นมาเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในอาเซียน เรามีโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hotels จำนวนมาก และเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้สู่สมาคมอาเซียน การท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยังคงเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรอที่จะกลับเข้ามาสัมผัสในเมืองไทย”
ทางด้านนายปีเตอร์ ฟาน เดอร์ โฮเวน (Pieter van der Hoevan) ผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคอินโดจีน กลุ่ม Minor Internationalกล่าวว่า ประเทศเวียดนามหันมาเน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเชิงสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experimental tourism) ระหว่างรอการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยชาวเวียดนาม โดยเฉพาะประชาชนในเมืองฮานอยและโฮจิมินห์นิยมการท่องเที่ยวแบบ Luxury ที่ผู้คนในยุคนี้สามารถเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น เพราะราคาที่ถูกปรับลดลงมา เช่น การเข้าพักโรงแรมระดับ 4 หรือ 5 ดาว การให้บริการอาหารนานาชาติ รวมถึงอาหารไทย และการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมภายในประเทศ
“60% ของแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังตกงาน บริษัทนำเที่ยวทยอยปิดตัวไปแล้ว 95% ผมยังมองไม่เห็นโอกาสเปิดประเทศเร็ว ๆ นี้ แต่ตอนนี้ การท่องเที่ยวภายในประเทศช่วยทำให้ธุรกิจโรงแรมในเวียดนามมีกระแสเงินสดกลับคืนมา” ปีเตอร์ กล่าว
งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้จัดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ หรือ “สลัดเพลท” เป็นตัวกลางช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหาร และด้านการบริการจากทุกมุมโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Food & Hotel Thailand เพื่อสร้างความรู้ในการปรับตัวรับมือการเดินทางท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเรียนรู้กลยุทธ์การตลาดภายในของแต่ละประเทศ และเตรียมความพร้อมให้แก่นักธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการเดินทางเข้าจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะยาว
ติดตามรายละเอียดการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ เพื่ออัปเดตความรู้ เทรนด์เทคโนโลยี ที่จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ ในงาน เพิ่มเติมได้ที่ www.foodhotelthailand.com