“ข้าวเพื่อหมอ” จับมือ “รพ.สนามธรรมศาสตร์” ใช้ “ปิ่นโต” ลดขยะพลาสติก

โครงการ “ข้าวเพื่อหมอ” Food For Fighters และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ผนึกกำลังใช้ “ปิ่นโต” ในการส่งอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อลดขยะพลาสติก พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายมอบอาหารให้ประชาชนที่เดือดร้อนด้วย

“นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร” เจ้าของร้านอาหาร “เป็นลาว” ผู้ก่อตั้งโครงการ “ข้าวเพื่อหมอ” Food For Fighters เปิดเผยว่า จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะรวบรวมร้านอาหารที่เดือดร้อนจำนวน 30 ร้าน ระดมทุนทำอาหารส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ จนกระทั่งได้เพิ่มเป็นเป็นเกือบ 100 ร้าน และจากที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะส่งอาหารให้กับโรงพยาบาลในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เริ่มต้นจาก 3 แห่ง ได้กลายเป็นเกือบ 20 โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วย COVID-19 ทั่วประเทศไทย โดยภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน ได้รับยอดเงินระดมทุน 1,482,018 บาท ส่งอาหารไปประมาณ 3 หมื่นกล่อง
นางสาวพันชนะ ยังกล่าวอีกว่า จุดเริ่มต้นเล็กๆ เหล่านี้ รวมถึงน้ำใจจากทุกท่านที่มอบมาให้เราอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านทุนทรัพย์ วัตถุดิบ และถ้อยคำกำลังใจ ถือเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เรามุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการนี้ต่อ เพราะจากสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่า COVID-19 จะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ยังไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่า โรคระบาดนี้จะหายไปจากประเทศของเราจริงๆ สถานการณ์ยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ เราจึงมีแนวคิดในการขยายความช่วยเหลือนี้ต่อไปยังกลุ่มผู้ที่ขาดแคลนอาหาร ผู้คนที่ตกงานและไม่มีรายได้จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้


คุณหมอและพยาบาลตลอดจนบุคคลากรทางการแพทย์ที่เราจัดส่งข้าวกล่องให้เป็นประจำนั้นมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งมอบ “กำลังใจที่กินได้” นี้ต่อไปยังผู้ที่ขาดแคลนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเราจะดำเนินโครงการต่อในระยะที่ 2 อีก 1 เดือน โดยไม่จำกัดแค่ในพื้นที่เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่เราจะส่งไปให้ถึงผู้ที่ขาดแคลนทั่วประเทศ โดยครั้งนี้เราตั้งใจจะเปิดระดมทุนจำนวน 2,000,000 บาท เพื่อที่จะส่งข้าวกล่องไปตามสถานที่ต่างๆ ที่ประสานงานไว้แล้ว รวมทั้งโรงพยาบาลที่ยังมีผู้ป่วยอยู่ ได้แก่ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ (D-Luxx) (ปทุมธานี) โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ (สมุทรปราการ) โรงพยาบาลบาเจาะ (นราธิวาส) โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ (นราธิวาส) โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ (นราธิวาส) โรงพยาบาลบันนังสตา (ยะลา) และโรงพยาบาลยะรัง (ปัตตานี)
“ความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการครั้งนี้ เราได้รับความร่วมมือจาก Next บริษัทน้องใหม่ที่มีหัวใจเพื่อสังคม ในเครือของ Silver Voyage Club ในการเป็นผู้กระจายอาหารให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการของเราเกือบ 100 ร้าน จะยังคงเป็นพ่อครัว แม่ครัวที่ปรุงอาหารแสนอร่อยส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ขาดแคลน นอกจากนี้ หลังจากที่เราได้เริ่มโครงการแรกไปแล้ว เราพบว่าปัญหากล่องพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากการผลิตข้าวกล่องนี้ใช้กล่องพลาสติกจำนวนมากและสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อโลกของเราต่อไป ครั้งนี้เราจะ “ผูกปิ่นโต” ส่งข้าวเพื่อลดปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม และผู้ที่ได้รับยังจะสามารถนำปิ่นโตกลับไปใช้งานได้ต่อไปด้วย โดยขณะนี้ได้เริ่มที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เป็นแห่งแรก และขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง” นางสาวพันชนะกล่าว
ด้าน “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการรณรงค์ใช้ “ปิ่นโต” เพื่อลดขยะพลาสติกว่า ได้ขอความร่วมมือจากบุคลากรของโรงพยาบาลฯ ในการร่วมมือกันลดขยะพลาสติก พร้อมทั้งได้ปรึกษากับโครงการ “ข้าวเพื่อหมอ” Food for Fighters ที่เป็นเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหารที่ส่งอาหารกลางวันให้แก่บุคลากรโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ในเปลี่ยนจากใส่อาหารในกล่องพลาสติกครั้งเดียวทิ้งมาเป็นส่งในปิ่นโตและได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว 100% ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์


เราเริ่มจากให้ Food for Fighters มาส่งปิ่นโตอาหาร ให้แก่บุคลากรโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ แลกกับปิ่นโตเปล่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เตรียมไว้ จากนั้น Food for Fighters ก็จะเอาปิ่นโตของมหาวิทยาลัยใส่อาหารมาส่งในวันพรุ่งนี้ ส่วนปิ่นโตที่โรงพยาบาลสนามได้รับวันนี้ เมื่อรับประทานเสร็จก็จะล้าง และแลกกับปิ่นโตบรรจุอาหารที่จะมาส่งวันพรุ่งนี้ และทำแบบนี้ไปทุกวันครับ เพียงเท่านี้ ขยะมากมายจากกล่องอาหารพลาสติก ถุงพลาสติก ถุงแกง หายไปในทันที ช้อนส้อมพลาสติก ตะเกียบพลาสติกก็ไม่มีอีกต่อไป เพราะที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เราจะล้างช้อนส้อมตะเกียบกันเองครับ
บางท่านอาจสงสัยว่า ใช้ปิ่นโตแบบนี้จะมีปัญหาติดเชื้อได้ไหม เรื่องนี้มีคำตอบครับ ที่สหรัฐอเมริกามีผู้หญิงคนหนึ่ง lockdown อยู่บ้าน 19 วันไม่ออกไปเจอใครเลย สั่งอาหารมากินอย่างเดียว ปรากฎว่าติดเชื้อโควิดจากถุงพลาสติกที่ใส่มาส่งอาหารครับ เราไม่ได้บอกว่าปิ่นโตจะปลอดเชื้อนะครับ แต่ผมกำลังจะบอกว่า การใส่อาหารมาในภาชนะพลาสติกครั้งเดียวทิ้งและถุงพลาสติก ไม่ได้ปลอดภัยไปกว่าแต่ประการใดเลยครับ ที่จะปลอดภัยจริงๆ คือเราต้องเลือกร้านที่เราไว้ใจได้เรื่องความสะอาด แล้วโควิด-19 มันแพ้น้ำยาล้างจานครับ มันตายหมดตอนเราล้าง ในแง่นี้ปิ่นโตจึงปลอดภัยกว่าอาหารที่มาในกล่องหรือถุงพลาสติกครับ
“ท่านที่ใช้บริการสั่งอาหาร ผมขอเชิญชวนให้ผูกปิ่นโตกับร้านที่ท่านไว้ใจ แล้วท่านจะช่วยลดขยะลงไปได้มากมายโดยท่านปลอดภัยด้วยครับ หรือถ้ายังไม่ถึงขั้นผูกปิ่นโต สั่งอาหารครั้งต่อไปก็บอกเค้าว่า ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก เพราะช้อนส้อมที่บ้านที่ล้างเองสะอาดแน่นอนครับ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์เริ่มแล้วครับ ขอบคุณ Food for Fighters และผู้สนับสนุนทุกๆ ท่าน ที่มาเริ่มไปพร้อมๆ กัน และกันช่วยรณรงค์นะครับ เราจะผ่านโควิดไปด้วยกันแบบขยะไม่ล้นโลกครับ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวเชิญชวน


ทั้งนี้ได้มีผู้สนับสนุนร่วมมอบ “ปิ่นโต” ให้แก่โครงการเพื่อใช้ในกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ อาทิ พระครูรัตนโสภณ (สุรัฐ สิริปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดนายโรง กรุงเทพฯ มอบปิ่นโตให้ 118 ชุด โดยผู้ที่สนใจสนับสนุนโครงการ “ข้าวเพื่อหมอ” Food for Fighters สามารถร่วมบริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชี นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร เลขที่บัญชี 003- 2 – 916724 ธนาคารกสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 33 หรือ บริจาคผ่านเวปไซต์ https://social.sinwattana.com/foodforfighters โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Call Center โทรศัพท์ 02- 016 – 9910 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น.

ข่าวอสังหาริมทรัพย์อสังหาริมทรัพย์เกาะติดชีวิตคนเมือง
Comments (0)
Add Comment