ส. กุ้งไทย ชี้ปี 66 ผลผลิตกุ้งทรงตัว 2.8 แสนตัน คาดปีหน้าดีขึ้น แนวโน้มตลาดสหรัฐฯ ฟื้น

แนะเกษตรกรลดต้นทุน-เพิ่มผลิตภาพการผลิต-ส่งเสริมตลาดภายใน

วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคม และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี นายพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทยและประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี และนายปรีชา สุขเกษม กรรมการบริหารสมาคม ร่วมกันเปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2566 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวม อยู่ที่ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำ สวนทางต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง เพื่อรอดูสถานการณ์ รวมถึงปัญหาโรคและสภาพอากาศแปรปรวน พร้อมแนะเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพการผลิต และส่งเสริมการตลาดภายในให้เข้มแข็ง เตรียมรับมือผลกระทบราคากุ้งตกต่ำทั่วโลก
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตกุ้งของไทยปี 2566 ว่า ปริมาณผลผลิตกุ้งคาดว่าจะได้ประมาณ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่แล้ว

“เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการลดต้นทุนให้ได้ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝง ที่เกิดจากความเสียหายจากโรค เพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง เพื่อเตรียมรับผลกระทบจากราคากุ้งตกต่ำในปีหน้า โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อกระจายสินค้าที่คงคุณภาพความสดของกุ้งไทยไปถึงผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว คาดการณ์ผลผลิตปีหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 290,000 ตัน และตลาดสหรัฐฯ มีสัญญาณดีขึ้น จากการฟ้องร้องเอดี/ซีวีดีประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มออเดอร์กุ้งไทย” นายกสมาคมกุ้งไทยกล่าว

นอกจากนี้ ปี 2567 กุ้งไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐอเมริการมากขึ้น หลังประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลก ทั้ง เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ถูกสหรัฐฯ เรียกสอบสวนการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty : AD) การอุดหนุนการส่งออก (Countervailing Duty : CVD) เพื่อเรียกเก็บภาษีตอบโต้ คาดว่าจะมีผลิตในปีหน้า สถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ขณะที่ทั้ง 4 ประเทศข้างต้น ส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทน อาทิ จีน และญี่ปุ่น เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้สหรัฐฯ หันมานำเข้ากุ้งจากไทยที่เป็นผู้ผลิตชั้นนำและผลิตกุ้งคุณภาพสูงมากขึ้น

นายเอกพจน์ กล่าวต่อไปว่า สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งไทย ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำร่องยกระดับการเลี้ยงกุ้งไทยสู่มาตรฐานสูงสุด คือ Aquaculture Stewardship Council (ASC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สหรัฐฯ ใช้เป็นข้อกำหนดในการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ สมาคมกุ้งฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ในการคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับกุ้งที่นำเข้าจากประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งไป EU ได้เพียง 900 ตัน/ปี จากที่เคยส่งออกได้ 60,000 ตัน/ปี ขณะเดียวกัน ยังขอให้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง เช่น โรคกุ้งตายด่วน หรือกลุ่มอาการตายด่วน (Shrimp Early Mortality Syndrome : EMS) อาการขี้ขาว (White Feces Syndrome WFS) โรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Disease : WSD) และโรคหัวเหลือง (Yellow-head Virus : YHV) เป็นต้น

“อุตสาหกรรมกุ้งไทยกำลังเผชิญกับ Perfect Strom ประกอบด้วยปัญหา Over Supply (การบริโภคต่ำ) ต้นทุนการผลิตสูง ราคากุ้งตกต่ำ และโรคกุ้ง สมาคมฯและเกษตรกรจะทำหนังสือขอให้รัฐบาลยกวาระเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทวงคืนแชมป์ส่งออกกุ้งโลกกลับมาให้ได้” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

ด้าน นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคม และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า แม้ผลผลิตกุ้งไทยปี 2566 จะได้ผลผลิตเท่าเดิม แต่เมื่อดูจากปริมาณลูกกุ้งที่ลดลงร้อยละ 7 แสดงถึงประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรที่สูงขึ้น ถือเป็นจุดแข็งของไทยที่มีสายพันธุ์ลูกกุ้งที่หลากหลาย ทั้งนี้ เกษตรกรต้องพิจารณาเลือกลูกุก้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ ศักยภาพบ่อ และความสามารถในการจัดการการบ่อของแต่ละราย

“ปริมาณผลผลิตที่ทรงตัวในปีนี้ สาเหตุหลักเพราะปัญหาโรคกุ้งยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด รวมถึงปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิต วัตถุดิบต่างๆ และราคาพลังงาน สูงขึ้น เกษตรกรบางรายสามารถปรับตัวโดยพยายามเลี้ยงกุ้งไซส์ใหญ่ขึ้นเพื่อหนีราคา แต่บางรายก็ชะลอการลงกุ้ง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะยังคงเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากผลผลิตกุ้งยังคงเข้าตลาดอย่างต่อเนื่องในขณะที่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ และผู้นำเข้ากุ้งยังมีสต็อกเพียงพอ” นายบรรจง กล่าว

สำหรับปริมาณผลผลิตกุ้งรายภาคของประเทศไทย มีข้อมูลจากกรรมการสมาคมดังนี้

• นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามันว่า “ผลผลิตปี 2566 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 55,700 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 6 พบการเสียหายปัญหาขี้ขาว และสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกษตรกรจับกุ้งก่อนกำหนด และช่วงปลายปีที่ฝนตกมาก จะมีปัญหาความเค็ม ทำให้เกษตรกรทยอยจับและพักบ่อ

• นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรีกล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งปี 2566 ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีประมาณ 69,900 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา จากปัญหาโรคตัวแรงดวงขาว ขี้ขาว และ หัวเหลือง เกษตรกรต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รวมถึงปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง หรือปล่อยกุ้งลดลง

• ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 34,200 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรบางส่วนยืดเวลาการเลี้ยงเพื่อให้ได้กุ้งไซส์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทำให้กุ้งโตช้า และมีความเสียหายจากโรคระบาด”

• นายพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งพื้นที่ภาคใต้ตอนบนปี 2566 ประมาณ 93,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4 และ จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรพยายามเลี้ยงกุ้งขาวให้ได้ขนาดใหญ่ เกษตรกรบางส่วนหันไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำเนื่องจากราคาดีทั้งปี”

• นายปรีชา สุขเกษม กรรมการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 28,100 ตัน ลดลงร้อยละ 4 ผู้เลี้ยงประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โรคระบาด และสภาพอากาศแปรปรวน เกษตรกรลดความหนาแน่นลงเพื่อเลี้ยงกุ้งไซส์ใหญ่ ช่วงปลายปีฝนที่ตกหนักส่งผลให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีความเค็มต่ำ เกษตรกรทยอยจับกุ้งแล้วพักบ่อเพื่อเตรียมเลี้ยงครอปต่อไปในปีหน้า”

นายกสมาคมกุ้งไทย
Comments (0)
Add Comment