ออก 7 มาตรการ ช่วยเหลือลูกค้าประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน ธอส.พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง และจ่ายสินไหม

ธอส. ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในภาคกลางและภาคตะวันออกที่ประสบภัยน้ำท่วมเฉียบพลัน ผ่าน “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2564”  เริ่มจาก “ลดดอกเบี้ยเหลือ 0%-ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่-ประนอมหนี้-ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน-ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี-กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01%-.ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย”

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดน้ำท่วมหลากฉับพลันบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากการเกิดมรสุม ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชนพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหาย และผู้อยู่อาศัยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2564(กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส.กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส.ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2– 3 อัตราดอกเบี้ย MRR – 3.15% ต่อปี(ปัจจุบันเท่ากับ 3.00% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับMRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง 

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหายให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track)สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ“โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2564” ตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

propertychannelธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เกาะติดชีวิตคนเมือง
Comments (0)
Add Comment