แพทย์จุฬาฯ วิจัยสำเร็จ ใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นของคนไข้เอง ฉีดเข้าเอ็นข้อไหล่ ลดปวด สมานเอ็นฉีกขาด และฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ฉีกขาดได้ ทางเลือกใหม่แทนการผ่าตัด ลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน
“ปวด” อาการที่ไม่มีใครอยากเป็น และเมื่อเกิดอาการปวดแล้ว ก็อยากจะหายปวดให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการกินยาแก้ปวดหรือแนวทางการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ เช่น ฝังเข็ม นวด ใช้คลื่นความถี่ คลื่นไฟฟ้า ฯลฯ แต่ในวันนี้ ที่คลินิกระงับปวด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีแนวทางบำบัดรักษาอาการปวดแบบใหม่ที่ได้มาจาก “เกล็ดเลือด” ของ “ผู้ปวด” เอง
“การฉีดเกล็ดเลือดฟื้นฟูเอ็นข้อหัวไหล่เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาคนไข้ที่เราทำมากว่า 5 ปีแล้ว แนวทางนี้ช่วยลดผลข้างเคียงของยากลุ่มแก้ปวดได้และมีความปลอดภัยสูงมาก เพราะเป็นการเอาเกล็ดเลือดและพลาสมาของคนไข้เอง ออกมาแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นซ่อมแซมตัวเอง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์มาร์วิน เทพโสพรรณ แพทย์ประจำคลินิกระงับปวด ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าถึงวิธีการบรรเทาอาการปวดด้วยเกล็ดเลือด
วิทยาการนี้เป็นงานวิจัยที่คลินิกระงับปวดร่วมมือกับหน่วยการกีฬาของโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อศึกษาการดูแลความปวดให้กับผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน การเล่นกีฬา การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดท่า ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ และเอ็นฉีกขาด ซึ่งบางรายต้องรักษาด้วยการผ่าตัด บางรายรักษาไม่หายขาด พัฒนาไปสู่อาการปวดเรื้อรังตลอดชีวิต
“ในการศึกษานี้ เราเปรียบเทียบการรักษาโดยทำ MRI ที่หัวไหล่ของคนไข้ที่ได้รับการฉีดเกล็ดเลือดไปแล้ว 6 เดือน กับคนไข้ที่ไม่ได้ใช้วิธีการฉีดเกล็ดเลือดในการรักษาเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด ซึ่งเราพบว่าการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าไปในเอ็นข้อไหล่ ช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีนัยยะสำคัญภายใน 1 – 2 เดือน และยังช่วยซ่อมแซมรอยฉีกขาด ทำให้เอ็นข้อไหล่ติดกันได้ดีขึ้นด้วย ขนาดแผลที่ฉีกขาดก็ลดขนาดลง ทำให้คนไข้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดเรื้อรัง เลี่ยงการผ่าตัด ลดความเสี่ยงจากกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน”
เกล็ดเลือดเข้มข้น ทางเลือกใหม่บรรเทาปวด
นายแพทย์มาร์วิน กล่าวถึงแนวทางที่ใช้ในการรักษาอาการปวดโดยทั่วไปในปัจจุบันว่าแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การใช้ยา และการไม่ใช้ยา
1. การรักษาอาการปวดโดยการใช้ยา ยาแก้ปวดมาตรฐานที่นิยมใช้กัน ได้แก่
ยากลุ่มพาราเซตามอล ยากลุ่มนี้บรรเทาอาการปวดได้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง คนไข้ก็ไม่ควรกินยากลุ่มนี้มากเกินไป หรือกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินไป เนื่องจากเป็นพิษต่อตับ
ยากลุ่มแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่ายากลุ่มนี้ให้ผลดีในการบรรเทาอาการปวด แต่ก็มักจะเกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง หรือ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คนไข้ที่กินยากลุ่มนี้นาน ๆ อาจเสี่ยงเป็นโรคไตหรือโรคหัวใจได้ ดังนั้น จึงไม่ควรกินต่อเนื่องนาน ๆ เช่นกัน
ยากลุ่มมอร์ฟีน แพทย์ในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้รักษาอาการปวดในผู้ป่วยที่ไม่ได้ปวดจากมะเร็ง
2. การรักษาอาการปวดโดยไม่ใช้ยาซึ่งแบ่งคร่าว ๆ เป็นการใช้หัตถการในการระงับปวด (Pain Intervention) และ กายภาพบำบัดของเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีหลายวิธี ได้แก่ การใช้ความร้อน การนวด การประคบเย็น การฝังเข็ม การการฟังเพลง การใช้คลื่นความถี่วิทยุ และการฉีดเกล็ดเลือด เป็นต้น
“การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเพื่อฟื้นฟูร่างกายจัดอยู่กลุ่มเวชศาสตร์ทางเลือกที่เกิดขึ้นราว 10 ปีมาแล้วในต่างประเทศ ในเกล็ดเลือดมีสารต่าง ๆ ที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง เป็นสารที่มีไว้ซ่อมแซมร่างกาย จึงมีการศึกษาการฉีดเกล็ดเลือด ทั้งเพื่อความสวยงามและเพื่อลดการปวดข้อเข่า ข้อไหล่ และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย” นายแพทย์มาร์วิน อธิบายและเสริมว่าปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลในประเทศไทยปรับใช้แนวทางนี้เป็นเวชศาสตร์ชะลอวัยด้วย
คุณภาพเลือดคือประสิทธิภาพการบรรเทาปวด
เนื่องจากวิธีการนี้เป็นการใช้เกล็ดเลือดของผู้ป่วย (ผู้ปวด) เอง ดังนั้น ประสิทธิผลของการรักษาจึงแตกต่างกันไป ขึ้นกับสภาพร่างกายของคนไข้ ช่วงอายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และคุณภาพเลือดของคนไข้แต่ละบุคคล
“ถ้าคนไข้เป็นคนแข็งแรง ออกกำลังกายดี เป็นนักกีฬา คุณภาพเลือดก็จะดี ผลการซ่อมแซมร่างกายก็จะดีไปด้วย”
นายแพทย์มาร์วิน อ้างการศึกษาการฉีดเกล็ดเลือดของต่างประเทศที่ระบุด้วยว่า ประสิทธิผลการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นซ่อมแซมร่างกายจะได้ผลดีมากกับคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 55 ปี
“เนื่องจากวิธีนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัยมาก เพราะใช้เลือดของคนไข้เองในการรักษาตนเอง จึงไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยารับงับปวดทั่วไป หลายครั้งจึงมีคนไข้ที่อายุมากกว่า 60 ปี มาขอรับการรักษาด้วยวิธีนี้ ซึ่งหมอก็ทำให้ได้ แต่ก็จะแจ้งคนไข้ด้วยว่า ประสิทธิผลอาจไม่ดีไม่เท่ากับคนที่อายุน้อยกว่า 55 ปี”
“การักษาทำโดยการดูดเลือดดำมาประมาณ 15 มิลลิลิตร แล้วนำไปปั่นแยกพลาสมาและเลือดแดง จากนั้นนำ พลาสมาที่มีเกล็ดเลือดเข้าข้นนำไปเพื่อการรักษาฉีดทันที”
ใครไม่เหมาะบรรเทาปวดด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้น
การรักษาอาการปวดด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น แม้จะดีแต่ก็ไม่เหมาะกับคนไข้ทุกคน โดยเฉพาะไข้ 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ผู้ที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากเลือดของผู้ป่วยมะเร็งอาจจะมีเชื้อมะเร็ง ซึ่งหากนำเลือดของคนไข้มาปั่นแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายคนไข้แล้ว ก็อาจทำให้เกิดการกระจายของเชื้อมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น ๆ ได้
2. ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดยาก การทำให้เกิดแผลจากเข็มฉีดยาอาจจะทำให้เลือดไหลมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนไข้
ปัญหาเอ็นข้อไหล่ แนวโน้มโรคยอดฮิตคนเมือง
ที่ผ่านมา คลินิกระงับปวด โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ดูแลคนไข้อาการปวดเรื้อรังจากปัญหาเอ็นข้อไหล่เป็นจำนวนมาก
“เราพบคนที่มีปัญหาเอ็นข้อหัวไหล่อันเกิดมาจากการยกของหนัก การทำงาน และการเล่นกีฬา ซึ่งการบาดเจ็บในส่วนนี้ต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูร่างกายนาน ดังนั้น การฉีดเกล็ดเลือดจึงมีประโยชน์ต่อนักกีฬา คนทำงานออฟฟิศ และผู้ที่ต้องการรักษาอาการบาดเจ็บหายดี และใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการพักฟื้นร่างกาย เพื่อให้พร้อมกลับไปทำงาน แข่งกีฬา และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเร็วที่สุด” นายแพทย์มาร์วินอธิบายถึงประโยชน์โดยสังเขป
“คลินิกระงับปวด รพ.จุฬาฯ มีแนวทางการดูแลคนไข้ที่ดีมากๆ แห่งหนึ่ง เพราะแพทย์ได้ทำงานกันเป็นทีมอย่าง “ครบวงจร” มีทั้งหมอผ่าตัด หมอกระดูกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญของการผ่าตัดหัวไหล่ และหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ดูเรื่องการฟื้นฟูของกล้ามเนื้อหัวไหล่”
“เริ่มจากแพทย์คัดเลือกทั้งคนไข้และวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละราย เพื่อประสิทธิผลการรักษาที่ดีที่สุดและเพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไข้ ซึ่งที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อคนไข้ได้รับการตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ หรือ MRI ว่ามีอาการบาดเจ็บของเอ็นหัวไหล่ ไหล่ติด และทีมแพทย์ร่วมกันวินิจฉัยและลงความเห็นว่า คนไข้รายนี้ไม่เหมาะที่จะผ่าตัด หรือการออกกำลังกายก็ไม่ช่วยให้อาการปวดดีขึ้น แต่ควรรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดแทน คนไข้ก็จะถูกส่งตัวมารักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือด ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะฉีด 1 หรือไม่เกิน 2 เข็มเท่านั้น อาการปวดก็จะทุเลาลงถึง 80% ความปวดที่เหลืออีก 20 % ขึ้นกับเวลาและการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูตามลำดับ”
นายแพทย์มาร์วิน กล่าวเสริมว่า “ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อครั้ง (การทำหัตถการ)”
อนาคตของงานวิจัยระงับปวดด้วยเลือดของผู้ปวด
นายแพทย์มาร์วินเล่าถึงความก้าวหน้าของการวิจัยคลินิก “ในทางการแพทย์ เราก็ไม่หยุดทำวิจัยเพื่อช่วยผู้ป่วยหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทรมานเพียงแค่นี้ มีการขยายการวิจัยไปที่อวัยวะอื่นด้วย เช่น การศึกษาการฉีดเกล็ดเลือดระงับปวดบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ ซึ่งตอนนี้คืบหน้าไป 50% แล้ว และยังต้องการหาคนไข้มาเข้าร่วมโครงการวิจัยอีก” นายแพทย์มาร์วิน กล่าวเชิญชวนผู้มีอาการปวดกลางหลังให้มาร่วมโครงการวิจัยการฉีดเกล็ดเลือดระงับปวดบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ โดยสามารถติดต่อขอทำนัดที่คลินิกระงับปวด รพ.จุฬาฯ เพื่อให้หมอตรวจวินิจฉัยว่าเป็นอาการของโรคข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบหรือไม่ และหากเข้าเกณฑ์ คนไข้สามารถเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัยได้ตามความสมัครใจเพื่อรับการรักษาโดยไม่มีค่าใช่จ่าย
หยุดปวด ที่คลินิกระงับปวด รพ. จุฬาฯ
“คนทุกคนล้วนไม่อยากเจ็บ ไม่อยากปวด แต่เมื่อเป็นโรคร้ายก็ต้องรักษาโรคนั้นให้หาย ในช่วงเวลาที่ยาวนานที่คนไข้ใช้รักษาโรคร้ายและฟื้นฟูร่างกายให้กลับเป็นปกตินั้น จะดีกว่าไหมถ้าคนไข้ไม่ต้องทนกับอาการเจ็บปวดทรมานอันเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาโรคร้าย นี่คือ คอนเซ็ปต์การทำงานของ คลินิกระงับปวด” นายแพทย์มาร์วิน กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจที่มีอาการปวดข้อต่อเอ็นหัวไหล่ หรือปวดอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อการรักษาที่ถูกทางได้ที่คลินิกระงับปวด Pain Clinic https://painchula.com/ ชั้นที่ 17 อาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. โดยนัดหมายล่วงหน้า หรือสอบถามได้ที่ โทร. 0 2256 5230
เปิดรับอาสาร่วมโครงการวิจัยระงับปวด เพิ่มคุณภาพชีวิต
คลินิกระงับปวด จุฬาฯ ยังมีโครงการวิจัยทางการแพทย์อีก 2 โครงการ เกี่ยวกับการระงับปวด เพื่อพัฒนาทางเลือกในการบรรเทาและระงับปวดแก่คนไข้ให้ดียิ่งขึ้น และกำลังเปิดรับคนไข้อาสาสมัครมาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องการคนไข้ที่มีอาการเจ็บปวดทางร่างกาย ดังนี้
1. คนไข้หมอนรองกระดูกปลิ้น คนไข้หมอนรองกระดูกปลิ้นมี 2 อาการเด่น คือ ปวดหลัง และปวดหลังร้าวลงขา ซึ่งวิธีการรักษาเดิม คือ การกินยาแก้ปวด ซึ่งเมื่อกินไปนาน ๆ แล้วไม่ดีขึ้น คนไข้ก็ต้องผ่าตัด แต่ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ คือ การจี้หมอนรองกระดูกปลิ้นด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้า โดยใส่เข็มเข้าไปในหมอนรองกระดูก แล้วกระตุ้นเข็มให้เกิดความร้อนขึ้น เพื่อทำให้หมอนรองกรระดูกที่ปลิ้นหดลง ส่งผลให้อาการปวดเบาลงด้วย
2. คนไข้ปวดใบหน้า และปวดฟันเรื้อรัง – คนไข้ส่วนใหญ่มักปวดใบหน้าและฟันตลอดเวลา กินข้าวไม่ได้ น้ำหนักลด ยิ่งเคี้ยวก็จะรู้สึกปวดไปทั้งหน้า คนไข้กลุ่มนี้โดยมากจะรักษากับหมอฟัน หรือหมออายุรกรรมประสาท ซึ่งจะได้รับการรักษาด้วยการถอนฟัน แต่ก็ไม่ทำให้อาการปวดหายไปเนื่องจากอาการปวดไม่ได้มาจากฟัน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ พบว่า กลุ่มประสาท 2 กลุ่มที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ เป็นกลุ่มประสาทที่ส่งผลต่อความเจ็บปวดของใบหน้า หากฉีดสาร “โบทุลินัม” หรือ ที่รู้จักในชื่อการค้า “โบท็อก” (แบบเดียวกับที่ใช้เสริมความงาม) เข้าไปที่บริเวณกลุ่มประสาทบนใบหน้าก็จะสามารถลดปวดได้ค่อนข้างดี คนไข้ที่ปวดใบหน้าและปวดฟันเรื้อรังเหล่านี้สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องกินยา ตอนนี้ การวิจัยสำเร็จมาครึ่งทางแล้ว เราพบว่าคนไข้ประมาณ 80% อาการปวดหายเข้าใกล้ 100% กินยาแก้ปวดลดลง บางคนสามารถกลับมามีชีวิตปกติได้ กินข้าวได้
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการวิจัยข้างต้นนี้ สามารถติดต่อขอทำนัดที่คลินิกระงับปวด รพ.จุฬาฯ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดจากโรคใด หากเข้าเกณฑ์ คนไข้สามารถเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัยได้ตามความสมัครใจเพื่อรับการรักษา โดยไม่มีค่าใช่จ่าย
ขอได้รับความขอบคุณจากศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ
โทร. 0-2218-3364-6, 099-220-8990
ธิติรัตน์ สมบูรณ์ ผู้ส่งข่าว