“Chula Smart City” ผุดโครงการ “PMCU Solar Carpark” ต้นแบบสมาร์ทคอมมูนิตี้ ใช้พลังงานสะอาดลดต้นทุนรักษาสิ่งแวดล้อมเสริมคุณภาพชีวิตเมืองน่าอยู่

“อิมแพค โซล่าร์” จับมือ “บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด” และ “สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เดินหน้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถบริเวณลานจอดรถตลาดสามย่าน พร้อมเปิดตัวโครงการ “PMCU Solar Carpark” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แนวคิด‘เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ’ (Chula Smart City) ในการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถ เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ต้นแบบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมพื้นที่หลังคา 4,000 ตารางเมตร ขนาด 770 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1.1 ล้านหน่วยต่อปี หรือเทียบเท่ากับค่าไฟฟ้า 4.4 ล้านบาทต่อปี

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการ อิมแพค โซล่าร์ กรุ๊ป ผู้นำการพัฒนาบริการระบบพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาแบบครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า โครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับลานจอดรถ หรือ PMCU Solar Carpark เป็นการปรับปรุงสภาพพื้นที่ลานจอดรถด้วยหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ Private PPA ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ภายในองค์กร ลดต้นทุนค่าใช้ไฟฟ้า และช่วยสนับสนุนสู่การสร้างสังคมแบบสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ ลดการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยอิมแพค โซล่าร์กรุ๊ปเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบด้านการลงทุนติดตั้ง และพัฒนาระบบแผงโซลาร์เพื่อการผลิตไฟฟ้าบนโครงหลังคาลานจอดรถให้กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด โดยนำร่องการติดตั้งบริเวณลานจอดรถ ด้านหน้าโครงการ Block 28 ตลาดสามย่าน ด้วยงบลงทุนประมาณ 24 ล้านบาท พร้อมทั้งยังดูแลการบำรุงรักษาหลังการติดตั้งไปตลอดอายุสัญญาอย่างครบวงจรด้วยทีมงานมืออาชีพสำหรับอิมแพค โซล่าร์ กรุ๊ปถือเป็น ผู้พัฒนาบริการระบบพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาแบบครบวงจร ในรูปแบบ Private PPA รายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยพัฒนาโครงการให้กับลูกค้าชั้นนำมากมาย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มสหพัฒน์ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี กลุ่มไทยยูเนี่ยน กลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ อีกมาก

ด้านนายธงชัย วิจารณ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจโครงข่ายไฟฟ้า บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลาในการดำเนินการของอิตัลไทยวิศวกรรม ถือได้ว่าเป็นผู้นำตลาดเรื่องการให้บริการด้านวิศวกรรมและก่อสร้างแบบครบวงจร โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการงานก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด ในการพัฒนาและติดตั้ง“ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับลานจอดรถ” (Solar Carpark) ให้กับ“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”ในบริเวณลานจอดรถด้านหน้าโครงการ Block 28 ตลาดสามย่าน โดยทางบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ และดำเนินการด้านวิศวกรรม ติดตั้ง และก่อสร้าง รวมพื้นที่หลังคาประมาณ 4,000 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการแล้ว ในชื่อโครงการ “PMCU Solar Carpark” ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา และก่อสร้างโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด ส่งเสริมการยกระดับสังคมสู่ Smart Energy การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ขณะที่รศ.ดร.วิศณุ  ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน และนวัตกรรม กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด “Chula Smart City” โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วย 4 แนวคิดหลัก หรือ “SMART 4” ประกอบด้วย “SMART MOBILITY, SMART ENERGY, SMART LIVING และ SMART ENVIRONMENT โดยการพัฒนาและติดตั้งโครงการ “PMCU Solar Carpark” ในบริเวณลานจอดรถตลาดสามย่าน อยู่ภายใต้แนวคิด SMART ENERGY ที่ส่งเสริมการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะเน้นไปที่การผลิตพลังงานหมุนเวียน  หรือพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาและติดตั้งโครงการ “PMCU Solar Carpark” ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการแสดงศักยภาพในการพัฒนาองค์กรแบบมืออาชีพในการบริหารจัดการพื้นที่พาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบให้ร่วมศึกษาการติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) และระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้โครงการ “PMCU Solar Carpark” จะเป็นโครงการต้นแบบให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการนำโมเดล และเทคโนโลยีดังกล่าวไปขยายผล สู่การใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในวงกว้าง อันเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบใช้แล้วหมดไปอย่างยั่งยืน

‘เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ’ (Chula Smart City)บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัดอิมแพค โซล่าร์อิมแพค โซล่าร์ กรุ๊ป
Comments (0)
Add Comment