กทพ. เดินหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ

กทพ. เดินหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2  

พลเอกวิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) งานทบทวนศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงานทบทวนและออกแบบรายละเอียดของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการศึกษา มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ตลอดจนรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาพิจารณาร่วมในการศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

สำหรับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการจากคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี 2537  จึงได้มีการก่อสร้างเสาตอม่อไปพร้อมกับการก่อสร้างถนนประเสริฐมนูกิจ ต่อมาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือได้ถูกบรรจุไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดินปี พ.ศ. 2552 – 2554 แต่ได้มีการชะลอโครงการไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพการจราจรบนถนนประเสริฐมนูกิจมีความหนาแน่นมากจึงได้มีการเสนอความเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการจราจรต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและจึงได้รับความเห็นชอบในหลักการ โดยบรรจุโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือไว้ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2560  และให้ กทพ. ดำเนินโครงการฯ เฉพาะตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนประเสริฐมนูกิจ ตั้งแต่บริเวณทางแยกเกษตรศาสตร์ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก รวมระยะทางประมาณ 10.5  กิโลเมตร ขนาด 4 ช่อง จราจรไป – กลับ โดยไม่มีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม

โดยจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอุโมงค์เกษตรศาสตร์บริเวณเสาตอม่อที่ 10 ของถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งได้ผนวกโครงการสะพานข้ามทางแยกบนถนนประเสริฐมนูกิจของกรมทางหลวงจำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วยแยกวังหิน แยกเสนานิคม แยกสุคนธสวัสดิ์ แยกนวลจันทร์ และแยกนวมินทร์ ซึ่งเป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาการจราจรร่วมกันระหว่างระบบทางหลวงและระบบทางพิเศษ อันเป็นการเสริมสร้างพื้นที่ในการรองรับปริมาณจราจรของโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในการดำเนินการโครงการฯในครั้งนี้ กทพ. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด ให้ดำเนินงานทบทวนศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และงานทบทวนและออกแบบรายละเอียดของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ซึ่งจากการศึกษาพบว่า โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2ฯ มีมูลค่าการลงทุนโครงการโดยรวม เท่ากับ 17,551 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 28.57% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง และช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนถนนประเสริฐมนูกิจได้ ทำให้ความสามารถในการรองรับรถ ที่ผ่านทางแยกเกษตรศาสตร์โดยรวมเพิ่มสูงขึ้น 26%

​อย่างไรก็ตามโครงการฯ นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการให้การสนับสนุนและการมีส่วนร่วม ของประชาชน กทพ. จึงได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งแรกขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมาโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาฯ ดังกล่าว จำนวน 357 คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน สถานประกอบการ สถานศึกษาในพื้นที่ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจในโครงการ โดยในครั้งนั้นที่ปรึกษาได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการ แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม

“ขณะนี้การดำเนินการศึกษา ของโครงการฯ อยู่ในขั้นตอนการเตรียมจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กทพ. จึงได้จัดให้มีการสัมมนาฯ ครั้งนี้ขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษา และร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และร่วมกันแสดงความคิดเห็น ต่อผลการศึกษา และร่างมาตรการดังกล่าว เพื่อให้การพัฒนาโครงการฯ สามารถดำเนินไปควบคู่กับความใส่ใจต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” พลเอก วิวรรธน์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด

กทพการทางพิเศษทางด่วนพลเอกวิวรรธน์ สุชาติรับฟังความเห็นเทสโก้เอพซิลอนเอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ
Comments (0)
Add Comment