หนังสือพิมพ์วันพรุ่งนี้ (1)
โดย….ชญานิน ศาลายา
หนังสือพิมพ์ ถูกขึ้นบัญชีว่ามีความเสี่ยงถูกคลื่นเศรษฐกิจดิจิทัลกวาดลงจากสนามข่าวมาพักใหญ่แล้ว หลังสื่อใหม่อย่าง อินเตอร์เน็ต ปรากฎตัวในไทยเมื่อปี 2535 พร้อมกับการเบ่งบานของเว็บข่าวในช่วงเวลาต่อมา แต่ 2 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา เว็บข่าว หรือ ข่าวออนไลน์ ไม่สามารถเขย่าบัลลังก์หนังสือพิมพ์เสาหลักวงการสื่ออย่างที่คนในวงการกังวลกัน ข้อสรุปดังกล่าวยืนยันได้จากเม็ดเงินโฆษณา รายได้หลักของหนังสือพิมพ์ ที่ผ่านหนังสือพิมพ์ ระหว่างปี 2545 ถึง 2555 ตัวเลข ขยับขึ้นมาโดยตลอด ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 14,505 ล้านบาทต่อปี โดยประมาณ (สถิติสูงสุดปี 2547 มูลค่า 17,739 ล้านบาท:นีลสัน มีเดีย) ที่สำคัญหนังสือพิมพ์ยังอยู่บนแผงกันครบ แต่สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว
ลางบอกเหตุ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) เม็ดเงินโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง จาก 15,256 ล้านบาทในปี 2556 เหลือ 13,182 ล้านบาทในปี 2557 พอเข้าสู่ปี 2558 เม็ดเงินโฆษณาไหลลงมาอยู่ที่ 12,332 ล้านบาท ก่อนหล่นฮวบลงมาเหลือเพียง 9,843 ล้านบาท ในปี 2559 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2544 หรือถอยหลังไปกว่า 15 ปี หากเปรียบเทียบตัวเลขระหว่างปี 2556 กับ 2559 ซึ่งเป็นช่วงโซเชียลมีเดียบูม จะพบว่าในช่วงเวลา 4 ปีดังกล่าวนั้น เม็ดเงินโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ ลดลงถึง 5,412ล้านบาท หรือลดลงมากกว่า 35 % รายได้หายไปขนาดนี้มีหรือวงการหนังสือพิมพ์จะไม่เสทือน
นอกจากรายได้โฆษณาที่หายไปแล้ว หนังสือพิมพ์ยังเผชิญกับยอดขายหนังสือพิมพ์ (ราว 20 %ของรายได้รวม) ตกต่ำลงต่อเนื่อง “เอเย่นต์ (ตัวแทนจำหน่ายหนังสือ) ปิดไปเยอะแผงหายไปราว 30%“ ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่ายหนังสือใหญ่ฉบับหนึ่งประมาณการให้ฟัง
ชุดข้อมูลข้างต้น เป็นฐานให้คาดการณ์คำตอบๆถึงสาเหตุที่ หนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่าง บ้านเมือง ที่ยืนหยัดในวงการมากว่า 45 ปี จึงประกาศอำลาวงการ และหนังสือพิมพ์ที่เหลือในตลาด 13 ฉบับไม่ว่า ฉบับ เล็ก หรือ ยักษ์ใหญ่ รายวัน หรือ รายสามวัน ล้วนดำเนินมาตรการ รีดไขมัน ลดหน้า-ลดคน-ลดค่าใช้จ่าย กันถ้วนหน้า เช่นเดียวกับนิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ที่ เผชิญชะตากรรมเดียวกันกับ หนังสือพิมพ์ แต่หนักหน่วงกว่า ปีเดียวกันนั้น นิตยสารยกธงขาวบอกลาแผงถึง 13 เล่ม รวมทั้งสกุลไทยนิตยสารเก่าแก่อายุกว่า 63 ปี
ผลประกอบการติดลบ
รายได้ระดับอุตสาหกรรมที่หดตัว ผูกโยงกับผลประกอบการของ บริษัทดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์โดยตรง หากเข้าไปส่องผลประกอบการของสื่อ 3 ค่ายใหญ่ในตลาดหุ้น (บางกอกโพสต์ เนชั่น มัลติมีเดีย และมติชน) ระหว่างปี 2556-2559 พบว่า ทั้ง 3 ค่าย มีผลประกอบการขาดทุนมากกว่ากำไร อาทิ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง ขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ถึงไตรมาสสองปีนี้ (2560) ส่วน บมจ.มติชน ผลประกอบการระหว่างปี 2557-2559 ขาดทุน ก่อนพลิกกลับมาทำกำไรเล็กน้อยในไตรมาสสองปี 2560 และ บมจ.เอ็นเอ็มจี เริ่มขาดทุนตั้งแต่ปี 2559 ถึงไตรมาสสองปี2560 เป็นต้น
แม้การหดตัวของตัวเลขโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของหนังสือพิมพ์ (ราว 80 % ของรายได้รวม) ส่วนหนึ่งเป็นไปตาม สภาวะอุตสาหกรรมที่เม็ดเงินโฆษณาภาพรวมทั้งระบบหดตัวตามเศรษฐกิจ (ปี 2559 เม็ดเงินโฆษณาทั้งอุตสาหกรรมอยู่ 107,896 ล้านบาทลดลงจากปี 2556 จำนวน 15,201 ล้านบาท :นีลสัน มีเดีย) แต่ถ้าพิจารณาองค์ประกอบข้างเคียงประกอบด้วยแล้ว จะพบว่าสภาวะรายได้ถดถอยของธุรกิจหนังสือพิมพ์นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นเหตุแล้ว ยังมาจากผลการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอุตสาหกรรมอีกด้วย
ดังที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นบ้างแล้วว่า อนาคตหนังสือพิมพ์ ถูกจับตามานานแล้วนับแต่ข่าวออนไลน์ที่เสนอข่าวผ่านเว็บไซต์เข้ามามีบทบาทในวงการสื่อเมืองไทยเมื่อกว่า 2ทศวรรษที่ผ่านมา ตลอดช่วงเวลานั้น หนังสือพิมพ์ทุกค่าย ไหวตัว เปิดเว็บไซต์ นำเสนอข่าวคู่ กับ หนังสือพิมพ์ เพราะอย่างน้อยก็เป็นการขยับตัวต้อนรับ สื่อใหม่ แต่โมเดลปรับตัวด้วยการเสนอข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์คู่กับเว็บไซต์ แค่ทำให้คนทำหนังสือพิมพ์สบายใจเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อรายได้ มีเว็บไซต์ข่าวบางสำนักข่าวเท่านั้น ที่สามารถพัฒนาเนื้อหาจนแยกจากสื่อหลักและใช้เป็นหัวหอกบุกเบิกทิศทางใหม่ได้สำเร็จ
เมื่ออินเตอร์เน็ตมาถึงเมืองไทยใหม่ๆนั้น นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์กับคนทำสื่อขึ้นเวทีสัมมนา ถกกันเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีผลอย่างไรกับสื่อและได้ข้อสรุปว่า วันนี้ (หมายถึงปี 2539) หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (ชื่อเรียกตอนนั้นหรือเว็บข่าวในยุคนี้) ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่หนังสือพิมพ์ได้จากข้อจำกัดหลักอาทิ ต้องมีคอมพิวเตอร์จะเข้าถึงบริการได้ ไม่สามารถพกได้ (เมื่อเทียบกับหนังสือพิมพ์)
นับจากวันนั้น อนาคตหนังสือพิมพ์กับการมาถึงของอินเตอร์เน็ต เป็นประเด็นที่ถกกันมาต่อเนื่องแต่คนในวงการส่วนใหญ่ยังมองในแง่ดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยสนทนากับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสหลายคนถึงประเด็นดังกล่าว มุมมองคนข่าวรุ่นนั้น (พิมพ์ข่าวด้วยพิมพ์ดีดเสียงดังรัวๆเหมือนข้าวตอกแตก) มองว่า อินเตอร์เน็ตเป็นการเสริมหนังสือพิมพ์ และ เป็นเครื่องมือช่วยให้นักข่าวทำงานง่ายขึ้น ไม่ใช่คู่แข่ง หรือบางกอกโพสต์แจ้งผู้ถือหุ้นในปี 2550 ว่าไม่ต้องกังวลกับอินเตอร์เน็ต เพราะผู้บริโภคเลือกใช้สื่อด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน โดยเลือกดูอินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาแหล่งท่องเที่ยว หรือ สุขภาพแต่เลือกอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ความเชื่อดังกล่าวถูก … แต่ยังไม่ทั้งหมด
ห้าเหตุการณ์สำคัญ
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการหนังสือพิมพ์ เราต้องถอยหลังออกมายืนนอกวงการสื่อ พร้อมกับกวาดสายตามองการเปลี่ยนแปลง ในแวดวงข้างเคียงไปพร้อมๆกัน ในปี 2555 หนึ่งปีหลังน้ำท่วมใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G คลื่นซึ่งมีคุณสมบัติโดดเด่น สามารถส่งได้ทั้ง ข้อความ ภาพ เสียง ฯลฯ ได้เร็วขึ้น ผลที่ตามมาคือยอดขายสมาร์ทโฟน พุ่งพรวดจากราว 1 ล้านเครื่องเศษในปี 2553 เป็น 13ล้านเครื่องในปี 2557 และบริษัทวิจัยตลาดคาดว่าปีนี้ตัวเลขขายทั้งระบบจะแตะหลัก 40 ล้านเครื่องทีเดียว (ดูตารางประกอบ)
ศัตรูหรือมิตร
การมาของ 3 จี และ ตลาดสมาร์ทโฟนที่เฟื่องฟูอย่างถึงที่สุด ทำให้การสื่อสารในสื่อสังคม หรือโซเชียงมีเดียบูมสนั่น และทะลุถึงขั้นบ้าคลั่ง เมื่อยุค 4 จี มาถึงในปี 2559 คลื่นข้อมูลข่าวสารถูกส่งวนไปในสื่อสังคม ดึงดูดให้บริษัทให้บริการเครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่ของโลก กระโจนลงมาเล่นในสนามข่าวไทย อย่างคึกคัก เฟซบุ๊ค กูเกิล ไลน์ หรือ ซาหนุก ไล่เรียงตั้งแต่ปี 2556 สนุก.คอม เปิดตัวฟีเจอร์อ่านข่าว ปี 2558 เฟซบุ๊ค เปิด Instant Articles อย่างเป็นทางการ ตามด้วย กูเกิลนำเสนอ Google play Newsst และปี 2559 ไลน์เปิดบริการ Line Today เป็นต้น
โมเดลความร่วมมือ ระหว่างบริษัทบริการเครือข่ายสังคมใกล้เคียงกัน คือ บริษัทบริการโซเชียลมีเดีย ให้พื้นที่ (เครือข่าย) ด้วยการจูงใจสื่อที่จะเข้าร่วมว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ให้แบรนด์ (หัวหนังสือ) และแบ่งผลประโยชน์จากโฆษณาที่เข้ามา ข้อเสนอดังกล่าวประสบความสำเร็จมาก หนังสือพิมพ์ ทีวี เว็บข่าว ฯลฯ เข้าร่วมอย่างคับคั่ง เฉพาะ เฟซบุ๊ค หนังสือพิมพ์หัวหลักๆ ของเมืองไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรโดยพร้อมหน้า ขานชื่อตั้งแต่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน คมชัดลึก ข่าวสด เดอะเนชั่น ประชาชาติธุรกิจ ฯลฯรวมทั้งทีวีอีกหลายช่อง ถ้าให้คาดเดาเหตุผลที่สื่อเหล่านั้น เข้าร่วมกับบริษัทให้บริการสื่อสังคมอย่างไม่รีรอ เพราะเชื่อว่า เป็นโอกาสที่จะให้ข่าวสารวนอยู่ในโลกออนไลน์โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพราะข่าวต้องผลิตอยู่แล้ว เปรียบเหมือน ผลพลอยได้ ที่สามารถเพิ่มรายได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
ว่าไปแล้ว ทิศทางข้างต้นดูขัดกันกับสิ่งที่หนังสือพิมพ์กังวล ที่ระบุเช่นนั้น เพราะ ขณะที่หนังสือพิมพ์โอดครวญถึงภาวะยอดขายหนังสือพิมพ์ตกต่ำ บางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ เช่นกรณีหนังสือพิมพ์บ้านเมืองที่ฝ่ายบริหารแจ้งพนักงานถึงเหตุผลที่ต้องปิดกิจการว่า “เนื่องจากรูปแบบในการดำเนินธุรกิจได้เปลี่ยนไปอย่างมาก มีสื่อชนิดใหม่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทำให้การคงอยู่ของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นไปได้อย่างอยากลำบาก” เมื่อสื่อใหม่คือสาเหตุให้สื่อสิ่งพิมพ์อยู่ยาก แล้วเหตุใดผู้ประกอบการกลับ พาเหรดเข้าร่วมเป็นพันธมิตรป้อนข่าวให้บริษัทผู้ให้บริการโซเชียล ซึ่งชิงผู้อ่านจากหนังสือพิมพ์โดยตรง เหมือนยังสับสนว่า โซเชียลมีเดีย เป็นศัตรู หรือ มิตร กันแน่ !!!
(หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์บทความพิเศษ ฉบับที่ 10653 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560)
ภัยคุกคามหนังสือพิมพ์
เหตูการณ์
|
ผลที่ตามมา
|
ยุค 3 G & 4G มาถึง
|
วันที่ 16 ตุลาคม 2555 กสทช.เปิดประมูลคลื่น 3 จี ย่านความถี่ 2100 Mhz และวันที่ 17ธันวาคม 2559 ประมูลคลื่นความถี่ 4 G ย่านความถี่ 900 Mhz และ 1800 Mhz
|
สมาร์ทโฟนบูม
|
ปี 2553 สมาร์ทโฟนมียอดขายรวม 1,009,664 เครื่อง ก่อนพุ่งขึ้นไปถึง 13,331,013 เครื่องในปี2557 และคาดว่ายอดขายจะขึ้นถึง 40 ล้านเครื่องในปี 2560
|
โซเชียลเฟื่องฟู
|
ปัจจุบันมีผู้ใช้เฟซบุ๊คในไทย 41 ล้านยูสเซอร์ ทวีตเตอร์ แอคทีฟ 1.2 ล้านยูสเซอร์ และ ไลน์ 33ล้านยูสเซอร์
|
บริษัทโซเชียลรุกฟีเจอร์ข่าว
|
ธุรกิจโซเชียล เริ่มรุก ฟีเจอร์ข่าว ปี 2556 กูเกิลเปิดบริการ Google play newsstand ปี 2558เฟซบุ๊ค เปิดบริการ Instant Articles และ ปี 2559ไลน์ ให้บริการ Line news digest ก่อนปรับเป็น Line to day
|
โฆษณาหดตัว
|
นับจากปี 2555 การใช้จ่ายโฆษณาผ่าน หนังสือพิมพ์ ที่ถดถอย ในปี 2559 ตัวเลขลดลงเหลือ 9,843 ล้านบาท ต่ำกว่ากว่าหมื่นล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เช่นเดียวกับนิตยสารตัวเลขโฆษณาปี 2559 อยู่ 2,929 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 (5,674ล้านบาท) ถึง 48 %
|
หนังสือพิมพ์ปิด
|
ปี 2559 นิตยสารปิดตัวเอง 13 เล่ม หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เนชั่นสุดสัปดาห์ ประกาศปิดตัวเอง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ลดหน้า ลดคน .
|
ที่มา : นีลสันมีเดีย,บ.จีเอฟ และจากการรวบรวม ณ พฤษภาคม 2560
|