โชเฟอร์แท็กซี่ และ คนกลางที่หายไป
เสน่ห์การสนทนากับโชเฟอร์แท็กซี่ คือ ได้เจอเรื่องราวแปลกใหม่อยู่เสมอ ถ้าได้โชเฟอร์ช่างโอภาปราศรัย ผ่านชีวิตจนมองโลกอย่างเข้าใจ เที่ยวนั้นสนุก แต่ถ้าโชเฟอร์เกริ่นนำด้วย เรื่องการเมือง ประสบการณ์สอนผมว่า ควรรีบตัดการสนทนาทิ้งโดยไว
วันก่อนผมมีนัดที่ อาคารย่านปทุมวัน ความที่ไม่คุ้นเส้นทางกลางเมือง และกังวลเรื่องที่จอดรถ ผมจึงเลือกใช้บริการแท็กซี่ เช่นเดียวกับทุกครั้ง เมื่อนั่งหลังเบาะ เรื่องราวใหม่ก็เริ่มต้น
โชเฟอร์ที่กำลังขับพาผมไปจุดหมายวันนั้น ดูสูงวัย ผมขาวไม่ถึงกับโพลน มีเส้นผมสีดำแซมประปราย แต่พี่เขายังดูกระฉับกระเฉง ผมเรียกแกว่า “พี่” เพราะคะเนว่าถึงอย่างไรอายุคงน้อยกว่า ป๋ากับแม่ “วันนี้รถติดนะครับ” พี่เขาเปิดการสนทนา “แถวนี้ช่วงเช้าอย่างนี้ละครับ” ผมตอบกลับ
ทักทายกันตามมารยาทแล้ว การสนทนาก็ค่อยๆ ขยับขยาย จากหัวข้อตั้งต้น เช่น ขับรถวันละกี่ชั่วโมง รายได้ดีมั้ย? เศรษฐกิจตกต่ำอย่างนี้ บ่อยครั้งการสนทนาจะจบลงแค่นี้ แต่พี่โชเฟอร์ช่างคุย และดูเป็นมิตร รถยิ่งติด หัวข้อสนทนายิ่งเข้าใกล้ เรื่องส่วนตัว
ยังไม่ทันพ้นทางออกหมู่บ้าน “คุณทำงานที่นั่นหรือครับ?” พี่โชเฟอร์โยนคำถาม “ไม่ครับผมมีนัด” เมื่อเห็นผมไม่ลงรายละเอียด พี่แกเลยเลี่ยงไปคุยเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ทั้ง ค่าเงิน ดอกเบี้ยเฟด แนวโน้มเศรษฐกิจของเราปีนี้ นโยบายประชารัฐ
“พี่เกาะติดข่าวเศรษฐกิจมากเลยนะครับ” ผมพูดแทรกขึ้นมา “ครับๆๆ” ผมอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ พร้อมไล่เรียงชื่อหนังสือพิมพ์ เกือบทั้งหมดเป็นแนวเศรษฐกิจทั้งรายวัน รายสามวัน ผมแปลกใจนิดๆ ที่แกสนใจหนังสือพิมพ์แนวนี้มากกว่าหนังสือพิมพ์หัวสี
ผมพยายามเดาว่าพี่แกเคยทำงานอะไรจึงอ่านหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจเยอะจัง แต่ไม่ทันได้เอ่ยปากถาม พี่เขากลับเปลี่ยนหัวข้อสนทนา คราวนี้กรอเทปย้อนกลับทั้งเรื่องการศึกษา ครอบครัว ฯลฯ
ผมทึ่งเล็กๆ เมื่อพี่ เขาบอกว่าเป็นศิษย์เก่า คณะพาณิชย์มหาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่ง แกเอ่ยชื่อเพื่อนร่วมรุ่น หลายคนเคยเป็นคนในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ “ผมทำหน้าที่ประสานให้เพื่อนมาเจอกัน” พี่เขาเล่า “ผมขับแท็กซี่ไปกินข้าวกับเพื่อนทุกครั้งแหละไม่อายหรอกครับ (เพื่อน)ทุกคนรู้ว่าผมทำอาชีพนี้” พี่เขาเล่าต่อว่า ตอนผมเรียนปี 3 อาจารย์…. (ระบุชื่ออดีตปลัดกระทรวงแห่งหนึ่ง) มาบอกให้พวกเราไปสมัครทำงานแบงก์ เพื่อนหลายคนชวนไปทำ แต่ผมไม่ชอบเพราะเงิน(เดือน) มันน้อย ฟังพี่แล้วผมนึกถึงเด็กรุ่นนี้ที่ไม่อยากทำงานแบงก์เหมือนพี่เช่นกัน แต่เหตุผลแตกต่างกัน
รถเลี้ยวขวาเข้าทางขึ้นทางด่วนแล้ว แต่สภาพการจราจรบนทางด่วนไม่แตกต่างกับพื้นราบนัก ตอนนี้พี่โชเฟอร์เป็นผู้นำการสนทนาแล้ว “ตอนเช้าผมต้องโทรคุยกับแฟนที่สหรัฐฯทุกวัน ใช้ไลน์นี่ละครับไม่เสียตัง” ชักมันแฮะผมนึก “ผมเลิกกับเขาเมื่อสามสิบปีก่อน เขาไปอยู่สหรัฐฯ ก่อนกลับมาติดต่อกันใหม่ ตอนนี้เขาทำร้านอาหารไทย ปีนึงเขาจะกลับมาอยู่ที่เมืองไทยสองเดือน”
“ต่อไปแฟนบอกให้ผมไปอยู่ที่โน่น (สหรัฐฯ) ปีละสองเดือนสลับกัน” ชีวิตแบบนี้หลายคนฝันถึงเลยนะ ผมนึก ทั้งหาเลี้ยงชีวิตและใช้ชีวิตและโรแมนติคหน่อยๆ ยิ่งได้ฟังพี่เขาให้เหตุผลที่ออกมาขับแท็กซี่เพราะอยากพบผู้คนไม่ให้ชีวิตแห้งเหี่ยว และที่สำคัญ “แฟนเขาบอกผมว่าอย่ารีบตาย” คนวัยเกิน 70 ปีเขาบอกรักกันน่ากลัวจริง
การสนทนาเงียบไปอึดใจเมื่อทางโล่งและรถใช้ความเร็วได้มากขึ้น “ผมเคยทำโฮเทล ซัพพลายเออร์ จัดหาข้าวของต่างๆ ให้โรงแรมนะครับ” พี่เขาเริ่มคุยอีกเมื่อต้องชะลอความเร็วตามสภาพการจราจรอีกครั้ง เป็นประเด็นที่ผมอยากรู้พอดี คือโรงงาน เขาขายตรงกับโรงแรมไม่ได้หรอก ไม่ใช่ไปส่งของแล้ววางบิล โรงแรมเขามีระเบียบกำหนดวัน หรือทางโรงแรมอยากได้ของเพิ่มเติม จำนวนไม่มากโรงงานเขาก็ไม่สะดวกจัดหาให้ เราก็เข้ามาเป็นคนกลาง “ผมมีรายได้จากส่วนต่าง” พี่เขาร่ายยาว แต่ที่เลิกเพราะยุคนี้มันซื้อขายผ่านออนไลน์เยอะขึ้นธุรกิจไม่เหมือนเดิม
ถึงตอนนี้ผมนึกถึงลุงดอน แท็ป สก็อตต์ (Don Tapscott) เจ้าของงานเขียน “เศรษฐกิจดิจิทัล” ผมเคยฟังลุงดอนตอนมาพูดที่กรุงเทพฯ เมื่อ 2 ปีก่อน แกฟันธงมากว่า 20 ปีแล้วว่า เครือข่ายแห่งยุคดิจิทัล จะตัดคนกลางออกไปทำให้ผู้ผลิตและลูกค้าอยู่ในตัว (Prosumers) อาชีพตัวแทนจำหน่าย นายหน้าขายบ้าน นายหน้าขายประกัน ตัวแทนค้าปลีกและค้าส่ง ครูระดับประถมจะสูญหายไป
อยากจะคาดเดาว่าการมาของคลื่นดิจิทัลจะกวาดแรงงานทักษะเดิมหายไปเท่าไหร่? จำนวนโชเฟอร์แท็กซี่อาชีพซึ่งเปรียบเหมือนที่มั่นของแรงงานที่ถูกลบทิ้งจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัล จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ?
ผมถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เรื่องที่ลุงโชเฟอร์เล่าทำให้เริ่มคิดถึงตัวเอง เพราะลุงดอนบอกไว้เหมือนกันว่า อาชีพที่ผมทำอยู่ หมดเวลาแล้ว เช่นกัน.