LPN Wisdom ระบุ 3 เทรนด์ การออกแบบที่อยู่อาศัยในปี 2564 

LPN Wisdomชี้COVID-19 ปัจจัยหลัก การออกแบบโดยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยที่ใช้งานได้หลากหลาย,เน้นความสำคัญกับสุขอนา มัยการอยู่อาศัย และการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบที่พักอาศัย เป็นเทรนด์ของการออกแบบที่ตอบ  ทุกโจทย์การอยู่อาศัยของคนทุกวัยในปี 2564 

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (LPN Wisdom) บริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยในปี 2564 ว่า หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ปี 2562 ไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยและต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ผนวกกับประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ที่หันมาให้ความสนใจในการซื้อบ้านพักอาศัยมากขึ้นจากผลการสำรวจของ LPN Wisdom พบว่าปี 2563 มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล 44,001 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วนถึง 63% ของจำนวนโครงการที่เปิดขาย 70,126 ยูนิต สะท้อนความต้องการของผู้ซื้อที่ให้ความสนใจซื้อบ้านพักอาศัยมากกว่าคอนโดมิเนียมในช่วงที่ผ่านมา 

จากแนวโน้มดังกล่าว ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Products Design Center) ของ LPN Wisdom ได้มีการทำวิจัยถึงแนวโน้มและทิศทางการออกแบบที่อยู่อาศัยในปี 2564 พบว่า มี 3 แนวโน้มที่สำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบันประกอบด้วย การออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น, ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยในการอยู่อาศัย,และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การอยู่อาศัยสะดวกสบายมากขึ้น

ด้านการออกแบบพื้นที่ใช้สอยและวัสดุที่ใช้งานได้อย่างหลากหลายมากขึ้น (Function & Material) นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2563 ของ LPN Wisdom พบว่ากว่า 62% ของผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานจากทำงานที่สำนักงานมาทำงานที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านพักอาศัยต้องตอบโจทย์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ คอนโดมิเนียมต้องมีการออกแบบพื้นที่เอนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายเพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้นทั้งพื้นที่ทำงาน ออกกำลังกาย และการทำงานอดิเรก พื้นที่รับส่งพัสดุ กลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับคอนโดมิเนียมไปโดยปริยายเมื่อการสั่งซื้อของทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการออกแบบบ้านพักอาศัย ที่ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่อเนกประสงค์ภายในบ้านเพื่อรองรับกับการทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน 

นอกจากนี้ รวมถึงการออกแบบพื้นที่ทั้งบ้านพักอาศัยและคอนโดมิเนียมที่ตอบโจทย์กับคนทุกวัย (Universal Design) เพื่อตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 และในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ เช่น การออกแบบที่ต้องมีห้องนอนผู้สูงอายุที่ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานรถเข็น การใช้ประตูบานเลื่อนแทนประตูบานเปิดภายในห้องนอนและห้องน้ำ หรือการออกแบบบ้านที่ไม่มีการลดระดับภายในบ้าน รวมถึงการใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่จะต้องป้องกันหรือลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นและช่วยส่งเสริมสุขภาวะที่ดี เช่น พื้นยางกันกระแทก ระบบไฟเปิด-ปิดอัตโนมัติ ราวจับติดผนังในห้องน้ำ เป็นต้น

ด้านการออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health) นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหามลภาวะทางอากาศอย่าง ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้น ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยทั้งบ้านพักอาศัยและคอนโดมิเนียมต้องคำนึงถึงระบบการไหลเวียนของอากาศภายในที่อยู่อาศัยโดยการนำเอานวัตกรรมการออกแบบที่ช่วยให้อากาศหมุนเวียน หรือระบบ Fresh Air Intake ที่จะช่วยเติมอากาศบริสุทธิ์เข้าไปด้านในอาคาร และไล่อากาศที่มีคุณภาพต่ำกว่าให้ออกมาด้านนอกเพื่อให้อากาศสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่มีสารที่ก่อให้เกิดมลพิษ(Toxic) ภายในที่อยู่อาศัย เป็นต้น ด้านเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology) เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการออกแบบที่อยู่อาศัยมากขึ้นโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการดูแลที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวคิดของ บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) เป็นการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดูแลระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของที่พักอาศัย เช่น การนำระบบตรวจจับความผิดปกติ (AI Sensor Technology) มาติดตั้งเพื่อตรวจจับความผิดปกติของระบบไฟฟ้า ประปา ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา เป็นต้น การออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีที่ลดการสัมผัส (Touchless) เช่น การใช้ประตูบานเลื่อนเปิด-ปิดอัตโนมัติแทนประตูที่ใช้มือจับ หรือระบบตรวจจับใบหน้าแทนการสแกนนิ้ว เป็นต้น และการออกแบบเพื่อรองรับระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของรถยนต์ในปัจจุบันและในอนาคต 

การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งให้สิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกหลายปี มาเร็วขึ้น ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2564 เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่ออนาคต ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ของการอยู่อาศัยที่กำลังเปลี่ยนไปในอนาคตทั้งในเรื่องของ ฟังก์ชั่นการใช้งาน สุขอนามัย และเทคโนโลยี นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว  

แอลพีเอ็น วิสดอม
Comments (0)
Add Comment