TMA ครบรอบ 55 ปี ตอกย้ำการยกระดับความสามารถการแข่งขัน

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA จัดงานครบรอบ 55 ปี ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่ โดยเชิญผู้นำจากองค์กรและสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ มุมมองและแนวความคิด เพื่อนการพัฒนาบุคคลและองค์กรก้าวสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.แบร์รี่ คาทซ์ (Professor Dr. Barry M. Katz, IDEO fellow, consulting Professor of mechanical Engineering, Stanford University) จากประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมงาน TMA Top Talk และนำเสนอแนวคิดภายใต้เรื่อง “Design with a Purpose” ได้มาบรรยายให้ฟังว่า การออกแบบเมืองก็จะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและความต้องการของผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องออกแบบให้ผู้คนมีความสะดวกในการเดินทางการ ขนย้ายสิ่งของต่างๆ หรือแม้แต่การจับจ่ายใช้สอย สำหรับการออกแบบทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเช่น การออกแบบปัญญาประดิษฐ์ เราก็จะต้องใช้แนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงความต้องการของมนุษบ์เป็นหลักและควบคุมดูแลออกแบบปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ก่อนที่มันจะพัฒนาตัวเองจนกระทั่งมาออกแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์
ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องออกแบบชีวิตของตนเองว่าต้องการใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันยังมีการออกแบบแม้กระทั่งการตายว่าเราต้องการที่จะตายอย่างไรอีกด้วย ทั้งนี้ การออกแบบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การออกแบบอนาคต ซึ่งเราควรออกแบบอนาคตที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะสามารถช่วยสร้างความยั่งยืนของโลกใบนี้ได้ต่อไปด้วย
ขณะเดียวกันงาน Leaders Forum ในหัวข้อ “The New Competitiveness Agenda: Designing a Compatible Future for All” TMA ได้รับเกียรติจาก ศ.สเตฟาน กาเรล์ลี่ (Professor Stephane Garelli, Founder of IMD World Competitiveness center) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มร. มาร์ติน วีซอฟสกี้ ประธานกรรมการบริหาร ด้านการออกแบบและนักอนาคตศาสตร์ ศูนย์นวัตกรรมของ SAP ประเทศเยอรมนี และ ศ.ดร.แบร์รี่ เอ็ม คาท์ซ(Professor Dr. Barry M. Katz)
Professor Stephane Garelli กล่าวว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของบริษัทชั้นนำระดับโลกจะไม่ใช่เรื่องของการทำกำไรอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องกลับมาคิดว่าโมเดลทางธุรกิจต่อไปของแต่ละบริษัทควรจะเป็นอย่างไร โดยบริษัทด้านเทคโนโลยีจะมีอิทธิพลสร้างผลกระทบต่อภาพรวมทั้งโลกมากขึ้น และเกิดเป็นคำถามเกี่ยวกับ mindset ที่ต้องปรับปรุง เพราะคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจึงต้องกลับมาคิดทบทวนเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินธุรกิจและศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคใหม่
มร. มาร์ติน วีซอฟสกี้ ย้ำว่าไม่มีใครรู้ถึงโลกในอนาคตได้ ดังนั้นการเตรียมตัวหรือรับมือกับอนาคต ธุรกิจควรเริ่มจากการปรับวิธีการตั้งคำถามใหม่ โดยตั้ง “ความหวัง” ที่ต้องการอยากจะเห็น เพื่อใช้เป็นตัวชี้นำให้เห็นทิศทางที่ต้องการจะไปในอนาคต และใช้ “จินตนาการ” ในการปรับกระบวนการคิดและวิธีการดำเนินชีวิตในอนาคต ในการวาดภาพอนาคตที่ต้องการ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกระดับ จึงมีความจำเป็นที่ต้องดึงประชาชนในทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิด ยิ่งมีความหลากหลายมากเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยให้เกิดไอเดียใหม่เพิ่มมากขึ้น และค่อยๆ หาวิธีลงมือทำให้เกิดขึ้นทีละจุดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นให้เป็นเส้นทางที่ต้องการ
ในแง่การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มร. มาร์ติน มองว่าการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ทั้งการนำ Machine learning และ AI มาช่วยในการทำงานที่มีลักษณะเป็นรูทีนหรืองานที่มนุษย์อาจตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึง โดยในแง่ของการใช้พลังงาน แม้ว่าในช่วงแรกการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอาจบริโภคพลังงานมากกว่า แต่จะค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ
ขณะที่ ศ.ดร.แบร์รี่ เอ็ม คาท์ซ ให้แง่มุมของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ย่อมก่อให้เกิด “ผู้แพ้” ในสังคม หรือเป็นกลุ่มคนที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ในการทำงาน ฉะนั้นธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะที่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยี นอกจากนี้ธุรกิจยังต้องตรวจสอบสถานะการใช้พลังงานของเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเริ่มเห็นว่ามีการนำฟีดแบคของการใช้พลังงานมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในเรื่องรถยนต์แบบไร้คนขับที่อาจนำมาใช้กับการขนส่งสาธารณะแทนที่รถยนต์ส่วนบุคคล
โดยตลอดระยะเวลา 55 ปี TMA มุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านการพัฒนาทักษะผู้นำ การบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมพร้อมให้องค์กรไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วนในการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
**********************************

Comments (0)
Add Comment