หลังจากรอมาเนิ่นนาน ประเทศไทยก็กำลังจะมีวัคซีนชนิด mRNA ฉีดกับเขาแล้ว ตามข่าวที่โรงพยาบาลเอกชนหลายเจ้าเริ่มเปิดจองวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ (Moderna) ในฐานะของ ‘วัคซีนทางเลือก’ กันเมื่อช่วงที่ผ่านมา
ตามคำบอกเล่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่สมควรรู้ว่าร่างกายรับวัคซีนยี่ห้ออะไรมาก็จริง แต่อย่างน้อยด้วยผลการศึกษาหลายๆ ฉบับ ล้วนชี้ไปทางเดียวกันว่าวัคซีนที่ผลิตต่างวิธี หรือวัคซีนคนละยี่ห้อ ต่างก็มีวิธีป้องกันรวมถึงกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคงจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หากเราจะทำความเข้าใจกระบวนการของ mRNA ให้ดี ก่อน(อาจจะ)ได้ฉีดจริงในอนาคต
วัคซีนทางเลือกที่กำลังจะเข้าไทย หรือวัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA (Messenger Ribonucleic Acid) โดยมีวิธีจัดการกับเชื้อ อธิบายง่ายๆ คือการส่งโปรตีนสังเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นหนามขนาดเล็กตามชื่อคือ mRNA เข้าสู่ร่างกาย จากนั้นเจ้าโปรตีนนี้จะไปกระตุ้นให้เซลล์ของมนุษย์เพิ่มจำนวนตัวมันเอง เพื่อไปก่อกวนระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้ภูมิคุ้มกันเรียนรู้จะกำจัดหนามดังกล่าวออกไป ซึ่งต่อไปเมื่อมีไวรัสหนามหรือเชื้อโควิด-19 เข้ามา ร่างกายก็จะจดจำและจัดการกับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้นนั่นเอง
อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกถกกันมาก คือความใหม่ของเทคโนโลยี mRNA ที่หลายคนกังวลว่าอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงในอนาคต แต่จริง ๆ mRNA ก็เป็นเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นและใช้งานมาร่วม 10 ปีแล้วในการใช้เพื่อหยุดยั้งเชื้ออีโบล่า หรือหากจะพูดถึงผลข้างเคียงอย่างเดียว วัคซีนโมเดอร์นาเองก็มีผลข้างเคียงคล้ายกับวัคซีนยี่ห้ออื่น คืออาการไข้ หนาวสั่น อ่อน เพลีย ที่แย่หน่อยคืออาการเมื่อยล้าและเจ็บหน้าอกชนิดไม่รุนแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่กรณีนี้ก็พบเพียง 0.00126% หรือ 12.6 รายต่อวัคซีนหนึ่งล้านโดส ที่สำคัญส่วนใหญ่ที่เจอก็หายดีและใช้ชีวิตกันตามปกติแล้ว
ข้อดีที่เด่นชัดที่สุดของวัคซีน mRNA ก็คือความโดดเด่นในแง่ประสิทธิภาพที่สูงลิ่ว โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าวัคซีนโมเดอร์นา สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 94.1% และป้องกันการติดเชื้อได้ 86.4% สำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทั้งยังลดความรุนแรงของโรคและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคได้ถึง 100% แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์อันยุ่งเหยิงของไวรัสนี้ได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น สายพันธุ์อัลฟา (พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร), บีต้า (พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้), แกมมา (พบครั้งแรกในบราซิล) และเดลต้า (พบครั้งแรกในอินเดีย)
แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้มากถึง 94.1% ย่อมส่งผลถึงความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd immunity ได้อย่างแน่นอน เห็นได้จากตัวอย่างไกลๆ ในประเทศเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, อิสราเอล หรือฮังการี ที่ผู้คนถอดแมสใช้ชีวิตแบบ Old Normal อย่างแพร่หลายแล้ว แต่ในประเทศไทยที่มีความคืบหน้าด้านวัคซีนที่ค่อนข้างช้า(จนถึงช้ามาก) อาจเกิดคำถามว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้มากน้อยแค่ไหน หรืออาจเลยไปอีกคำถามหนึ่ง ว่าตนเองจะสามารถกลับลำมาฉีด mRNA เป็นเข็มที่ 3 ต่อจากวัคซีนที่เคยได้รับมาแล้ว ได้หรือไม่?
คำตอบสั้นๆ คือ ‘ฉีดได้’ แต่คำอธิบายค่อนข้างยาวเสียหน่อย คือการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 3 นั้น อาจต้องมีระยะห่างที่เหมาะสมขึ้นกับว่าได้รับวัคซีนตัวไหนมา ในกรณีที่ฉีด แอสตร้าเซนเนกา มาครบ 2 โดส ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าร่างกายจะมีภูมิมากพอให้เว้นระยะรับเข็มที่ 3 ออกไปได้ราว 6-12 เดือน แต่ในอีกทางหนึ่งเมื่อประเทศกำลังรับมือกับสายพันธุ์เดลต้าที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก เราจึงมีลุ้นร่นระยะการรับ mRNA เป็นเข็ม 3 ได้เร็วขึ้น 1-2 เดือน เพื่อเร่งให้ภูมิสูงขึ้นพอจะรับมือกับสายพันธุ์เดลต้าได้ ส่วนในกรณีที่ผ่านการฉีด ซิโนแวค มานั้น ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดใดๆ มารับรอง ทางเลือกเดียวคือต้องเว้นระยะออกไป 3-6 เดือนก่อน แล้วรอข้อมูลทางวิชาการมารับรองในภายหลัง
ข้อสุดท้ายที่อยากบอกถึงโมเดอร์นาและ mRNA คือวัคซีนตัวเลือกนี้เหมาะกับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (ต่ำกว่านี้ไม่แนะนำ) ส่วนใหญ่แล้วปลอดภัยกับคนทุกกลุ่ม ยกเว้น กลุ่มผู้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน, ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV รวมถึงสตรีที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดก่อนฉีด หรือหากเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหน้านี้ ก็จำเป็นต้องเว้นระยะหลังติดเชื้ออย่างน้อย 3-6 เดือนก่อนรับวัคซีน และแน่นอน ไม่ว่าเราจะอยู่ในเงื่อนไขใด การพิจารณาความเห็นจากแพทย์คือเรื่องสำคัญสุดเสมอ