ไนท์แฟรงค์วิเคราห์ภาพรวมตลาดโรงแรมระดับลักซูรี่ในกรุงเทพ ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อัตราเข้าพักเหลือเพียง 35%

 สถานการณ์โรงแรมกทม. ครึ่งแรกปี 2563 พิษโควิดป่วนหนัก นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงถึง 61% เทียบปี62 จาก 14,757,448 คน เหลือ 5,781,091 คน “จีน” นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุด ด้านอัตราการเข้าพักโรงแรมระดับลักซูรี่ในกทม. มีเพียง 35% ในช่วงครึ่งแรก ส่งผลโรงแรมบางแห่งหยุดกิจการชั่วคราว ส่วนราคาเฉลี่ยที่พักรายวัน (ADR)ของโรงแรมระดับลักซูรี่ ลดลงไป 5.6% อยู่ที่ 4,800 บาท ส่วนแผนเปิดโรงแรมใหม่ 5 แห่งที่พักรวม 1,575 ห้อง เลื่อนเปิดบริการ

มร.คาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินมูลค่าทรัพย์สินและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ความต้องการห้องพักในกรุงเทพฯ ปรับลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศลดลงเป็นอย่างมากจากมาตรการด้านการเดินทางต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงถึง 61% เปรียบเทียบปีต่อปี จาก 14,757,448 คน เป็น 5,781,091 คน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ด้านนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งถือเป็นกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดก็มีปริมาณลดลงเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวนอกประเทศในเดือนมกราคม ปี 2563 ที่ผ่านมา

อุปทานและอุปสงค์

จากผลวิจัยไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย พบว่า พื้นที่สุขุมวิทตอนต้นมีไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของอุปทานรวมทั้งหมด รองลงมาคือเขตลุมพินี (22%), สีลม/สาทร (15%) และริมแม่น้ำ (16%) จากการระบาดของโควิด-19 ตอนสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดโรงแรมอัตราการเข้าพักโรงแรมระดับลักซูรี่ในกรุงเทพฯ เหลือเพียง 35% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2563 อัตราการเข้าพักมีมากกว่า 50% และลดลงไปในระดับต่ำสุดที่ 25% ในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการเดินทางถูกระงับ อัตราการเข้าพักที่อยู่ในระดับต่ำนั้นทำให้โรงแรมบางแห่งจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวจนกว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวของตลาด ณ ครึ่งแรกของปี 2563 ราคาเฉลี่ยที่พักรายวัน (ADR)ของโรงแรมระดับลักซูรี่ ลดลงไป 5.6% อยู่ที่ 4,800 บาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการมอบส่วนลดให้กับลูกค้าภายในประเทศเนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีโรงแรมระดับลักซูรี่ 2 แห่งเปิดตัวในกรุงเทพฯ เพิ่มอุปทานเข้ามาในตลาดอีก 687 ห้อง โดยทั้ง 2 แห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ได้แก่ คาร์ลตัน โฮเทล กรุงเทพ (338 ห้อง)อยู่บริเวณสุขุมวิทตอนต้น และโรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ (349 ห้อง) อยู่ในเขตลุมพินี ขณะที่โรงแรมระดับอัพสเกล (Upscale) และ มิดสเกล (Midscale)ที่เปิดให้บริการมีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 1,005 ห้อง ได้แก่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ (303 ห้อง), โรงแรมโซลาเรีย นิชิเท็ตสึ แบงค็อก (263 ห้อง), โรงแรมโอ๊ควูด สวีท แบงค็อก (228 ห้อง),โรงแรมวิลล่า เดอ พระนคร (47 ห้อง), โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ แอท พร้อมพงษ์ (120 ห้อง) และโรงแรมแอชลี่ย์ (44 ห้อง) แผนการพัฒนาโรงแรมโครงการใหม่ในปี 2563 อาจมีความล่าช้าหรือเลื่อนออกไป โดยปริมาณห้องพักโรงแรมระดับลักซูรี่ในกรุงเทพฯมีจำนวนรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 19,346 ห้อง ณ สิ้นครึ่งปีแรก 2563

 ภาพรวมธุรกิจโรงแรม

มร. มาร์ติเนซ กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2563เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการห้องพักลดลงตาม ภาคธุรกิจการบริการคาดว่าจะเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในระยะสั้น ซึ่งโดยรวมแล้วเราคาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในกรุงเทพฯจะลดลงต่ำกว่า 50% และราคาเฉลี่ยที่พักรายวัน (ADR)ยังคงลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่น้อยลงในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของกรุงเทพฯคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เมื่อมาตรการการเดินทางต่าง ๆ ถูกผ่อนปรน นอกจากนี้เราอาจจะเห็นการท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4

ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยมีโรงแรม 5 แห่งจำนวนห้องพักรวม 1,575 ห้องที่วางแผนจะเปิดตัวในปี 2563 และตามบางโครงการอาจจะต้องเลื่อนการเปิดตัวออกไป ซึ่งได้แก่ โรงแรมสินธร มิดทาวน์ กรุงเทพฯ (475 ห้อง), โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ (285 ห้อง),โรงแรมโอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพมหานคร (154 ห้อง), โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ (301 ห้อง), โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ (101 ห้อง) และโรงแรมชไตเกนเบิร์กเกอร์ โฮเทล ริเวอร์ไซด์ (259 ห้อง) อุปทานใหม่จำนวนมากเหล่านี้จะสร้างแรงกดดันต่อตลาดโรงแรมในกรุงเทพฯ ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายหยุดกิจการไว้ชั่วคราวเพื่อลดค่าใช้จ่ายจนกว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งพวกเขาอาจใช้โอกาสนี้ทำการปรับปรุงโรงแรมซึ่งจะช่วยให้สามารถยกระดับรา คาเฉลี่ยที่พักรายวัน (ADR) ในระยะยาวได้ หรืออย่างน้อยก็ดึงดูดลูกค้าให้ได้มากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันสูงในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตามกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลกในปี 2562  และยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดในฐานะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก และยังมีห้างสรรพสินค้าปลีก 2 แห่งแรกได้เปิดให้บริการใกล้กับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ในเดือนสิงหาคม 2562 และเดือนมิถุนายน2563 ที่ผ่านมา

propertychannelมร.คาร์ลอส มาร์ติเนซเกาะติดชีวิตคนเมืองโรงแรม​ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย
Comments (0)
Add Comment