เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ ในเรื่องการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ระหว่าง นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ และนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ โดยมี นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจากฯ และนางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ ลงนามเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารบางจากฯ ซีพีเอฟ และบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก ร่วมงาน ณ อาคาร ซีพี ทาวเวอร์ ถนนสีลม
ภายใต้ความร่วมมือนี้ บางจากฯ และซีพีเอฟ จะร่วมกันบริหารจัดการการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหารและไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของซีพีเอฟและบริษัทในเครือ เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) โดยบีเอสจีเอฟ
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ กล่าวว่า ขอบคุณ CPF ซึ่งเป็นครัวไทยรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” เพื่อนำไปผลิต SAF พลังงานแห่งอนาคต นอกจากจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG แล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือที่ครอบคลุมด้าน ESG ซึ่งถือเป็นแกนหลักของความยั่งยืนในปัจจุบัน เพราะไม่เพียงแค่ช่วยส่งเสริมในด้านการดำเนินธุรกิจ แต่ยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้
“ความร่วมมือระหว่างบางจากฯ และซีพีเอฟในครั้งนี้ ช่วยสร้างประโยชน์ในหลายมิติ นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียจากกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์แบบ ยังส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผ่านการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหารในเครือซีพีเอฟ เช่น เชสเตอร์,ห้าดาว กระทะเหล็ก ข้าวมันไก่ ไห่หนาน ฯลฯ เข้าร่วมโครงการ “ไม่ทอดซ้ำ” และ “ทอดไม่ทิ้ง” ซึ่งเป็นโครงการที่บีเอสจีเอฟร่วมดำเนินการกับพันธมิตรหลักผู้ริเริ่มโครงการ คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่ ปี 2565 โดยมีเป้าหมายในการร่วมกันขยายเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความตระหนักในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้คนไทย ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคราชการ เอกชน และผู้ประกอบการ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและส่งต่อน้ำมันปรุงอาหารเพื่อผลิต SAF มากกว่า 800 จุดทั่วประเทศ ซึ่งการแปรรูปน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเป็น SAF จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงการบินแบบดั้งเดิม ช่วยตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ”
ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อกายและดีต่อใจ ขณะที่บางจากฯ มีนวัตกรรมที่สามารถนำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วจากกระบวนการผลิต เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่าและหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิด Sustainovation ของซีพีเอฟที่นำนวัตกรรมมาช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน จึงเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil : UCO) รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหาร และไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของซีพีเอฟ นำไปผลิตน้ำมัน SAF นอกจากนี้ ยังมีแนวการศึกษาที่อาจมีการขยายผลไปยังธุรกิจของกลุ่มซีพีเอฟในต่างประเทศในอนาคต
“ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท และถือเป็นหนึ่งในการดำเนินการด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate action โดยการบริหารการลดของเสียจากกระบวนการผลิตที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มีมูลค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร หรือ Circular Economy”
สำหรับความคืบหน้าของการเตรียมเดินเครื่องหน่วยผลิต SAF ของบีเอสจีเอฟ ในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง กำลังดำเนินการตามแผนไปประมาณกว่า 70% ณ ปัจจุบัน และจะเริ่มผลิตในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน./