สสว. เร่งอุดหนุน MSME เพิ่มเติม ภายใต้โครงการฯ BDS หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” จัดแคมเปญ “จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน” ให้ MSME ทุกขนาด ในสัดส่วน 90% วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับ MSME 5,000 รายแรก
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. มีพันธกิจในการบูรณาการ และผลักดันการส่งเสริม MSME ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ MSME สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยหนึ่งในโครงการสำคัญซึ่ง สสว. ได้ดำเนินการต่อเนื่อง และสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริม MSME ของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSME ในมิติต่างๆ คือ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ “SME ปัง ตังได้คืน”
ผอ.สสว. เผยอีกว่า เดิมโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุน ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า สสว. ได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ “จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน” ซึ่งจะให้การอุดหนุนแก่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร
“สสว. ยังคงเดินหน้าเพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อหาแนวทางในการสนับ MSME ให้ได้มากที่สุด จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่แคมเปญ “จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน” จะสามารถช่วยอุดหนุนผู้ประกอบการเพิ่มเติมได้ถึง 5,000 ราย โดยจะอยู่กลุ่มบริการด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น Cloud, AI, ERP, POS และบริการด้านบัญชีการเงิน เช่น ระบบบัญชี หรือการจัดทำบัญชี และสิทธิ์ที่ได้นี้จะเป็นสิทธิ์ที่เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง จากปีละ 2 ครั้ง/ราย/ปีงบประมาณ และรวมวงเงินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/ราย
“ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” ผู้อำนวยการ สสว. กล่าว