สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวฯ ยื่นหนังสือ ค้าน ร่างกฎหมายหลักเกณฑ์ฉลากและภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวฯ ยื่นหนังสือต่อสภา ค้านร่างกฎหมายหลักเกณฑ์ฉลากและภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้เป็นกฎหมายสุดโต่ง ขาดวิสัยทัศน์ ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ การท่องเที่ยวร้ายแรง แย้งไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าการติดภาพสลดหดหู่ช่วยป้องกันปัญหาได้ พร้อมขอให้เร่งกิโยตินกฎหมายที่ล้าหลังเพื่อผลักดันไทยสู่หมุดหมายการท่องเที่ยวชั้นนำและครัวโลก

สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำโดย ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิชาการด้านเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม และผู้เสนอร่าง พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ… และ นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้าน “ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .…” ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องปิดรูปภาพคำเตือนที่แสดงความรุนแรงหรืออุบัติเหตุและโรคภัยขนาดใหญ่ลงบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยมี นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ

 

นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นสากล ไม่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับความถูกต้องของข้อความคำเตือน ไม่มีรายงานการศึกษาผลกระทบจากการออกกฎระเบียบ (Regulation Impact Assessment หรือ RIA) ที่เป็นกลางและเชื่อถือได้เพื่อบ่งชี้หรือพิสูจน์ได้ว่าการปิดภาพคำเตือน (Pictorial Graphic Health Warning Label) พร้อมข้อความคำเตือนที่ซ้ำซ้อนขนาดใหญ่ ไม่มีความเป็นอารยะ ลงบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทหนึ่ง มีประสิทธิผลในการลดปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตราย ได้แก่ เมาแล้วขับ ดื่มก่อนวัยอันควร และดื่มจนขาดสติ ได้อย่างยั่งยืน หากมีผลบังคับใช้ กฎหมายนี้จะสร้างความเสียหายร้ายแรง สร้างความถดถอยต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุตสาหกรรมหรือการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงทำลายภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ย้อนแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติในการสนับสนุนนวัตกรรมผู้ประกอบการรายย่อย และการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางระดับพรีเมียมของโลก หรือการเป็นครัวโลก รวมถึงยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านท่องเที่ยวและด้านอาหาร นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิผู้ประกอบการ ประชาชน ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวเกินจำเป็นอีกด้วย

“สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยและยืนยันมาตลอดว่า ร่างกฎหมายภาพคำเตือนเป็นกฎหมายที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่ก็เชื่อโดยสุจริตใจว่ารัฐบาลจะพิจารณายับยั้งและยกเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมในซัพพลายเซนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวม เรากังวลเป็นอย่างมากที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบออกกฎหมายนี้มา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นกลางในการพิสูจน์ได้ว่าการใช้ภาพที่น่าสลดหดหู่ ไม่ศิวิไลซ์ พร้อมคำเตือนที่มีขนาดใหญ่มาปิดจนเกือบเต็มพื้นที่ขวด กระป๋อง กล่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยลดและป้องกันปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายได้” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย” กล่าว

นางสาวเขมิกา กล่าวด้วยว่า ผู้ออกกฎหมายไม่ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment หรือ RIA) เพื่อพิสูจน์ความจำเป็นและความคุ้มค่าในการออกกฎหมายที่ต้องแลกกับความเดือดร้อนร้ายแรงของผู้บริโภคและผู้ประกอบการตามที่ประเทศสมาชิกของ WTO เคยแสดงความกังวลไว้แล้วก่อนหน้านี้ การที่หน่วยงานรัฐใช้วิธีเร่งรีบออกกฎหมายใหม่ที่มีลักษณะสุดโต่งมาเรื่อย ๆ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด นโยบายและกฎหมายที่ดีจะต้องสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้บรรลุผลไปพร้อมกัน รัฐบาลควรจะบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างเคร่งครัด รวมถึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นการแก้ปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายที่มีประสิทธิผลและยั่งยืน

นอกจากนี้ นางสาวเขมิกา ในฐานะตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังได้ขอให้รัฐบาลและสภาเร่งกิโยตินกฎหมาย โดยทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลด ละ เลิก ปรับปรุงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ล้าสมัย คลุมเครือ หมดความจำเป็น รวมทั้งกฎหมายที่กำหนดให้ส่วนราชการสามารถหักเงินค่าปรับที่ได้รับจากการกระทำผิดตาม พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นเงินสินบนรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ถึงกว่า 60-80% ของค่าปรับ ซึ่งกลายเป็นแรงจูงใจทางอ้อมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเกินจำเป็น ไม่เป็นธรรม ทำให้สังคมตั้งคำถามตลอดมาว่าเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดการทุจริตของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่

“กระบวนการกิโยตินกฎหมายจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และใช้หลักเกณฑ์ในการทบทวนทั้งในมิตินิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ สมดุลกับสถานการณ์ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการท่องเที่ยวทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน รวมถึงภาคธุรกิจบริการเป็นแก่นในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะต้องเปลี่ยนผ่านจากการ ‘ห้ามโดยใช้อคติ’ หรือขาดเหตุผลหรือผลการศึกษาที่เป็นกลางมารองรับเป็น ‘การกำกับดูแล’ อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการดื่มแล้วขับ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่อยู่ และการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ และที่สำคัญภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจะต้องบูรณาการความร่วมมือในการให้การศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงโทษภัยของการดื่มอย่างเป็นอันตราย เพื่อสร้างวัฒนธรรมการดื่มอย่างรับผิดชอบและพอดี อันจะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีสาเหตุจากการดื่มอย่างเป็นอันตรายที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ก่ออันตรายมิใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นพฤติกรรมที่ขาดความรู้หรือความรับผิดชอบของคนส่วนน้อยเพียงบางกลุ่ม” นางสาวเขมิกา กล่าวย้ำ

ด้าน ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิชาการด้านเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม และผู้เสนอร่าง พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ… กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าฉงนที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) นำร่างกฎหมายฉลากและภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมา ทั้งที่เคยถูกที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติครั้งที่ 1/2557 วันที่ 24 ธันวาคม 2557 ปัดตกไป เนื่องจากประเด็นความไม่สอดคล้องกับข้อตกลงและหลักการการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความไม่เหมาะสมและไม่เป็นสากลของภาพคำเตือนที่เสนอใช้ และให้พิจารณาใช้กราฟิกสัญลักษณ์ “ดื่มไม่ขับ” และ “ไม่ดื่มขณะตั้งครรภ์” ที่ประเทศทั่วโลกใช้อยู่ ซึ่งผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าได้นำกราฟิกสัญลักษณ์ทั้ง 2 มาใส่บนฉลากแล้วด้วยความสมัครใจตั้งแต่หลายปีก่อน

“ร่างกฎหมายนี้มีความพยายามทำลายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบิดเบือนภาพลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฐานะ “อาหาร” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และ Codex (Codex Alimentarius Commission) ให้ไปเป็นสิ่งมีพิษ จึงนำกฎหมายและภาพคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบมาบังคับใช้ ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบมีคุณลักษณะและการบริโภคที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถือเป็นการออกกฎหมายที่ไม่รอบคอบ ทำร้ายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรงแรม ร้านอาหาร ท่องเที่ยวและบริการในวงกว้าง รวมถึงทำลายภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว อาหาร และเครื่องดื่มของไทยอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประเทศเรากลายเป็นตัวตลกในสายตาคนทั่วโลก” ผศ.ดร.เจริญ กล่าว

ขณะที่ นางสาวสุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไร่องุ่นและผลิตไวน์องุ่น ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันกฎหมายหลักเกณฑ์ฉลากที่บังคับใช้อยู่ก็เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการมากพออยู่แล้ว เหรียญรางวัลถูกห้ามไม่ให้แสดง เช่นเดียวกับความภาคภูมิใจที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ไวน์เขาใหญ่” ยังไม่นับรวมการห้ามขายระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไกลมาถึงไร่ของเราที่เขาใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องผิดหวัง หงุดหงิด และไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่ขาย หรือทำไมไม่สามารถซื้อไวน์กลับบ้านหรือซื้อดื่มที่ร้านอาหารในไร่ได้ ส่วนมาตรการห้ามการโฆษณาทำให้เราไม่สามารถโฆษณาไวน์ที่เราภาคภูมิใจหรือโปรโมตการท่องเที่ยวไร่ไวน์งุ่นได้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่สถานที่ของเราไม่เป็นรองใครในภูมิภาคอาเซียน ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการทำธุรกิจ นักท่องเที่ยว ผู้บริโภคเสียอารมณ์ รัฐเสียรายได้ และหากมีการออกกฎหมายให้ปิดภาพที่ไม่น่าดูและไม่สร้างสรรค์ขนาดใหญ่ลงบนขวดไวน์หรือขวดเครื่องดื่มใดๆ ก็ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ไวน์ถูกรังสรรค์ปรุงแต่งด้วยความรักและศิลปะ ดื่มด้วยสุนทรียะ นักท่องเที่ยวที่มาดื่มหรือซื้อเป็นของฝากจากไร่องุ่นต่างเป็นผู้ที่รักและชื่นชอบในศิลปะการดื่มไวน์ การปิดภาพขนาดใหญ่ที่ไม่น่าดูและคำเตือนซ้ำๆ ขนาดใหญ่บนขวดไวน์ เป็นการทำร้ายธุรกิจของเราอย่างครบวงจร กระทบทั้งการผลิตไวน์กระทบไวน์ที่เราตั้งใจรังสรรค์กว่าทศวรรษ การท่องเที่ยวไร่ และร้านอาหาร เพราะคงไม่มีใครเสียเงินซื้อของที่มีภาพน่าเกลียดน่ากลัว

ทั้งนี้ ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ…. กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องแสดงข้อความคำเตือนพร้อมรูปภาพประกอบถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งให้จัดทำเป็นรูปภาพ 4 สี 6 แบบ สับเปลี่ยนกันไปตามลำดับในอัตรา 1 แบบ ต่อ 1,000 ภาชนะบรรจุ และให้เป็นไปตามแบบของข้อความ โดยมีการเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะต่อร่างประกาศดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ของระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 12 – 29 กุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้ สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการรวมตัวกันของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ นายกสมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ไร่องุ่นและผลิตไวน์องุ่น ผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชน ผู้ประกอบการร้านอาหารและบาร์

Comments (0)
Add Comment