มหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ครั้งที่ 11

277

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมจัด “มหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ครั้งที่ 11″ 

ระหว่างวันที่ 5 -7 ธันวาคม 2565 ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนครคีรี

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และรองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา บุญส่ง คณบดีคณะครุศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยสิงขร – มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการจัดงาน “มหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ครั้งที่ 11” (The 11th ASEAN Arts and Culture Exposition with International Performing Arts Festival) “เทิดไท้จักริน หัตถศิลป์ ถินพริบพรี เก็จมณีสู่อาเซียน” (ภูษา ภักษาหาร ผสานศิลป์) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารพุทธวิชชาลัย ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “การจัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์ฯ ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 5 -7 ธันวาคม 2565 ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกลาเจ้าอยู่หัว พระนครคีรี ซึ่งยังคงได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก เกาหลีใต้ รัสเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และ ไทย ในการนำชุดการแสดงมาเผยแพร่ให้ชาวจังหวัดเพชรบุรีและนักท่องเที่ยวได้รับชมตลอดการจัดงาน นับว่าเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายวิชาการด้านศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านจากภูมิภาคต่าง ๆ โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมมาเป็นสื่อกลางในการสร้างความปรองดองในภูมิภาคอาเซียน และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ  สำหรับไฮไลท์ของการจัดงานคือการนำรวมเอานักศึกษาทั้ง 8 ชาติที่มาร่วมแสดงด้วยกัน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นคนที่มาร่วมงานต่างเฝ้ารอการแสดงชุดนี้ นอกจากนั้นการจัดงานครั้งนี้ยังสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างดี คาดว่าตลอดการณ์จัดงานทั้ง 3 วันจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน และน่าจะสร้างรายได้เข้าจังหวัดกว่า 5-6 ล้านบาทตลอด 3 วันที่จัดงาน” 

72990

ด้านอาจารย์ ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กล่าวถึงกิจกรรมภายในการจัดงานครั้งนี้ว่า “กิจกรรมในปีนี้นอกจากจะมีการแสดงจากต่างประเทศและสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาและโรงเรียนในจังหวัดเพชรบุรีแล้ว ก็ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทยใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” และ “ภูษาสู่อาเซียน” การอบรมเชิงปฏิบัติการ : เรียนรู้สาธิตฝีมือช่าง การเดินแบบชุดผ้าไทยที่เป็นผลงานวิจัยโดยศูนย์วิจัยสิงขร – มะริดศึกษา นิทรรศการอาหารตามแบบเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร   จากยูเนสโก นิทรรศการผ้าที่มีความเป็นมาที่น่าสนใจ นิทรรศการช่างเมืองเพชร เป็นต้น โดยทุกกิจกรรมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี”

รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา บุญส่ง คณบดีคณะครุศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยสิงขร – มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้เผยถึงลายผ้าที่นำมาจัดแสดงภายในงานซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการจัดงานว่า   “ลายผ้าที่นำมาจัดแสดงมีทั้งหมด 7 ลาย ประกอบด้วย ลายทุ่งนาป่าตาล ลายครอบครัวปลาวาฬ ลายทวารวดี  ลายปลาทู ลายดอนขุนห้วย ลายเพชรราชภัฏและลายสุวรรณวัชร์ ซึ่งทุกลายเป็นผลการศึกษาวิจัยโดยศูนย์วิจัยสิงขร – มะริดศึกษา มีประวัติและความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะลายสุวรรณวัชร์ที่เป็นลายต่อยอดจากผ้าลายเพชรราชภัฏ และได้รับการยอมรับจากจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด เป็นการถอดลายเชิงกรวย จิตรกรรมลายเสาอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เป็นผ้าทอโดยใช้ภูมิปัญญาของไทยพวน กลุ่มลั่นทมขาว บ้านมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี” 

 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “มหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ครั้งที่ 11 นับได้ว่าเป็นการรวมชุดการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนมาจัดแสดงไว้ ณ จังหวัดเพชรบุรี นับว่าเป็นการแสดงที่หาดูได้ยากที่จะมีการรวมตัวนักแสดงจากหลากหลายประเทศ     โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมรับชมการแสดงดังกล่าวได้ ระหว่างวันที่ 5 – 7 ธันวาคม 2565 ณ อุทยาน    เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนครคีรี ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป”

Leave A Reply

Your email address will not be published.