มธ. เปิด “ห้องสมุดแห่งชีวิต” ชวนร่วมกิจกรรม “Lifebrary & 7S” ตลอดปี
หอสมุดฯ ธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “Lifebrary & 7S” ส่งมอบความรู้พร้อมทักษะการมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความสุข พร้อมเชิญชวนผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันทุกกิจกรรม ตามแนวคิด “ห้องสมุดแห่งชีวิต” ตลอดปี
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เปิดเผยว่า โครงการ “Lifebrary and 7S” จัดขึ้นด้วยความตระหนักว่า ปัจจุบันขอบเขตและกระบวนการเรียนรู้ของปัจเจกในสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก องค์ความรู้ทางวิชาการจากห้องเรียน ตารา บทความต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต หากแต่ต้องอาศัยทักษะ ประสบการณ์ หรือองค์ความรู้ที่หลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มุ่งมั่นยกระดับองค์กรสู่วิสัยทัศน์ใหม่ “Library of Life” โดยการเป็นห้องสมุดเพื่อชีวิต ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การวิจัย นวัตกรรม และทักษะอนาคต แก่ประชาคมธรรมศาสตร์และสังคม เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ส่งมอบความรู้ทั้งด้านวิชาการ และด้านทักษะต่าง ๆ สำหรับการดำเนินชีวิต สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้รับบริการได้ในทุกมิติ รวมถึงสร้างความพึงพอใจ และความผูกพันให้เกิดขึ้นระหว่างหอสมุดฯ กับผู้รับบริการ
“กิจกรรม “Lifebrary & 7S” เป็นหนึ่งในโครงการของห้องสมุดที่สอดคล้องกับว่าครบ 90 ปี ซึ่งถือเป็นทบทวนการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้คนกลุ่มต่างๆ การพัฒนาห้องสมุดไม่ใช่แค่พัฒนาตัวอาคารสำนักเท่านั้น แต่คิดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องที่มันต้องพัฒนาไปด้วยกัน และหวังว่าจะได้รับสนับสนุนจากทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันร่วมมาร่วมกันพัฒนาให้หอสมุดของธรรมศาสตร์ให้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต ตอบโจทย์ผู้คนในสังคมได้อย่างดีที่สุด” อธิการบดี มธ. กล่าว
ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดของ “Lifebrary” ที่หอสมุดแห่งวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากพื้นที่ซึ่งอ่านหนังสือการคืนหนังสือ ให้เป็นพื้นที่ใหม่ของการดูแลกายใจจิตวิญญาณของคนทุกเจเนอเรชั่น เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวและมีสุนทรียะ ซึ่งเป็นไปตามเทรนของโลกที่ทำให้เห็นว่าคนในปัจจุบันมีอายุยืนขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าภายในไม่กี่ 10 ปีนี้คนจะอายุยืนไปแตะที่ 100 ปี บางประเทศเช่นใน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน คนอาจจะอายุยืนไปถึง 120 ปีด้วยซ้ำ ภายใต้การอายุยืนเช่นนี้การดูแลกายจิตวิญญาณจำเป็นที่จะต้องดูแลอย่างถูกวิธีสร้างทักษะคนให้สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าจะมีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุนทรียะได้นั้นต้องทำอย่างไร และ “Lifebrary” ของหอสมุดแห่งนี้นั้นได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไปตอบโจทย์เหล่านี้กับคนในทุกเจเนอเรชั่นด้วยการดูแล สร้างทักษะ ความรู้และความสามารถในการดูแล 7S หรือ 7 เรื่องที่ถือเป็นหัวใจของการใช้ชีวิตในศตวรรษใหม่ก็ว่าได้
“7S ที่ว่านั้นเริ่มจาก Skin ผิวพรรณเป็นตัวบ่งบอกเบื้องต้นเลยว่าเรามีสุขภาพกายใจเป็นเช่นไร ผิวพรรณที่ดี ดูดีมีออร่า ช่วยเปิดประตูต่าง ๆ มากมาย ทำให้เราได้รับโอกาสและสร้างความสดชื่นให้กับผู้คนที่พบเจอ Skin จะดีได้ต้องมี S ตัวที่ 2 มาซัพพอตนั่นคือ Sleep การนอนเป็นกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในทุกวันและการนอนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง คนจำนวนมากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพราะบกพร่องเรื่องการนอน รวมถึงการ power nap หรือการ งีบสั้น ๆ ในช่วงเวลากลางวัน 5-10 นาทีหลังอาหารกลางวันจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย มาถึง S ตัวที่ 3 เรียกว่า Stress คือ การจัดการความเครียดของเราให้ได้ดี ถ้าเราเครียดจะส่งผลต่อ Sleep และ Skin การดูแลเรื่อง Stress ทั้งด้านกายและใจจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ต่อด้วย S ตัวที่ 4 ถือว่าสำคัญมากคือ Sex ซึ่งเป็นเรื่องที่เราปฎิเสธไม่ได้และไม่ใช่เรื่องแต่ที่เพียงว่าทำให้ถูกวิธีและปลอดภัยเท่านั้น แต่ Sex เป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายเกิดความสุขทั้งกายและใจ และยังส่งผลต่อ S ตัวอื่น ๆ อีกด้วย ขณะที่ S ตัวที่ 5 คือ Sensibility ผลจากการรับรู้ของอวัยวะรับกลิ่น จะส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก รวมไปถึงพฤติกรรม ตามมาด้วย S ตัวที่ 6 Syndrome เรามักจะใช้รวม ๆ เรียกโรคที่ไม่ได้เกิดจากตัวเชื้อโรค แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การดูแลเรื่อง Syndrome ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้มีสุนทรียะในการใช้ชีวิตได้อย่างยืนยาว และ S ตัวที่ 7 สุดท้ายคือ Soul หรือ Spirit เพราะว่าเอาเข้าจริงแล้วหัวใจของการมีชีวิตที่ดีและยืนยาว ต้องดูแลจิตใจให้ดีด้วย และเมื่อทำได้ครบทั้ง 7S ก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีสุนทรียะ โดย“Lifebrary & 7S” ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะลุกขึ้นมาเตรียมพร้อมที่จะตอบโจทย์นี้ให้กับทุกคนในสังคมในทุกเจเนอเรชั่น” รศ.ดร.พิภพกล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.อัญณิฐา ดิษฐานนท์ ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการพัฒนาและปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ก้าวล้ำ ทันสมัยของเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม หรือความสอดคล้องต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เป็นหอสมุดแรกที่มีการส่งหนังสือ Book Delivery ไปให้กับนักศึกษา คณาจารย์ หรือผู้ใช้บริการต่างๆได้สามารถอ่านหนังสือได้ในช่วงดังกล่าว และปัจจุบันมีการพัฒนาบน platform ของ Line ให้นักศึกษาหรือผู้ใช้บริการสามารถยืมหนังสือเราในห้องสมุดผ่านทาง Line application ได้ มีการปรับปรุงให้เกิดนวัตกรรมบริการ (Service Innovation) ในทุกมิติของการเข้ามาใช้บริการหอสมุด และในปีนี้เป็นก้าวใหม่ ‘Library of Life’ เป็นห้องสมุดเพื่อชีวิตสำหรับทุกคน ทุกช่วงวัย ทุกจังหวะชีวิตที่จะได้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ผ่านโครงการ ‘Life brary and 7S’ ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี และยังมีกิจกรรมดีๆ อีกมากมายหลังจากนี้ เพื่อจะตอบสนองผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น
“หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญชวนทั้งศิษย์เก่า ประชาชนทั่วไป และบุคคลที่สนใจ เข้ามาใช้บริการหอสมุดฯ ของเราได้ เรามีทั้งสื่อที่เป็นทั้งดิจิทัล สื่อที่เป็นสารสนเทศต่างๆ วารสาร หนังสือที่เป็น Catalog ใน edition ต่างๆ อยากให้เข้ามาใช้บริการ เราพยายามพัฒนาบริการต่างๆ ล่าสุดเราก็มีการพัฒนานวัตกรรมบริการสำหรับผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุดให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยสามารถ ยืม-คืน หนังสือ จ่ายค่าปรับต่างๆ ผ่านทาง Line application ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว” ผอ.หอสมุดฯ มธ. กล่าวเชิญชวน