สว.แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

313

สว. สัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กำหนดทิศทางการดำเนินงานในอีก 2 ปี ข้างหน้า
.คณะกรรมการจัดโครงการสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา ประจำปี 2565 จัดสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา ประจำปี 2565 “แลหน้า วุฒิสภาเพื่อประชาชน” ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสื่อมวลชน เข้าร่วม

.
สำหรับกิจกรรมนี้เป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างสมาชิกวุฒิสภา ดำเนินรายการโดย นางดวงพร รอดพยาธิ์ และนายอำพล จินดาวัฒนะ โดยแบ่งประเด็นออกเป็น 5 กลุ่มย่อย ซึ่งภายหลังการแสดงความคิดเห็นร่วมกันได้มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์โดยมีสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้แทนจากกลุ่มย่อยมาร่วมนำเสนอ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ด้านการสนับสนุนงานของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีข้อเสนอ อาทิ ความปลอดภัยทางถนนทางเข้า-ออก อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) ซึ่งมีการจราจรคับคั่ง เสนอให้ติดตั้งไฟสัญญาณแบบกดเพื่อให้รถได้เข้าออกตามสัญญาณไฟเพื่อความปลอดภัยของบุคคลากร การลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของรัฐสภา การปิดไฟในบริเวณที่ไม่จำเป็น และการเตรียมความพร้อมสู่การเป็น Paper Less Office โดยเสนอให้จัดทำแผนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….
กลุ่มที่ 2 การประชุมวุฒิสภา มีข้อเสนอแนะจากสมาชิกวุฒิสภาโดยขอความร่วมมือให้งดการประชุมคณะกรรมาธิการในวันจันทร์ อังคาร เนื่องจากตรงกับวันประชุมวุฒิสภา และหากมีร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการนั้น ๆ ต้องเข้าฟังทุกครั้ง
กลุ่มที่ 3 การกลั่นกรองให้ได้กฎหมายที่ดี โดยเสนอให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น กฎหมายนั้นจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และไม่เป็นภาระของประชาชน เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ปฏิบัติ และบังคับใช้ได้จริง มีความเป็นธรรมและเป็นกลางต่อสังคม ตลอดจนสะท้อนการแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการภายใต้กฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเป็นหลัก

กลุ่มที่ 4 คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.) ไปต่ออย่างไร ซึ่งในอีก 2 ปี ข้างหน้า สมาชิกวุฒิสภาได้ร่วมเสนอทิศทางที่จะเกิดขึ้น โดยเสนอให้กำหนดจุดและลงพื้นที่ในจุดที่ได้ตั้งใจกำหนดไว้ รวมถึงให้มีการยกย่องเชิดชูมอบรางวัลให้พื้นที่และหน่วยงานที่มีการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคณะสมาชิกวุฒิสภาในกลุ่มย่อยนี้ได้ร่วมประเมินผลสัมฤทธิ์ของแผนการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน โดย 3 อันดับแรกที่ได้รับการประเมินสูงสุดได้แก่ 1.การปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ 2.การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 3.การปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มที่ 5 บทบาทการกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเสนอให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามมติของวุฒิสภาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ บูรณาการการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างคณะกรรมาธิการ และการสร้างนวัตกรรมในการกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การสร้าง platform บริหารจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลของคณะกรรมาธิการ โดยใช้วิธีการสื่อสารแบบสองทางผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

Leave A Reply

Your email address will not be published.